POLITICS

รมช.คลัง ยืนยัน เดินหน้านโยบายดิจิทัล วอลเล็ต

รมช.คลัง ยืนยัน เดินหน้านโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ขอ ให้มองทุกมิติ เผย ชัดเจนเรื่องที่มางบประมาณ – เงื่อนไขการใช้ สิ้นเดือนนี้ ชี้ รัฐบาลคำนึงวินัยการเงินการคลังเป็นหลัก

วันนี้ (9 ต.ค. 66) ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวความคืบหน้าเรื่องเงินดิจิทัล วอลเล็ต ว่า ตนเองรู้สึกดีที่มีการถกเถียงกันเป็นวงกว้างในสังคมนักวิชาการ และประชาชน ในเรื่องของดิจิทัล วอลเล็ต เพราะในรัฐบาลก่อนหน้านี้ก็ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากขนาดนี้ ถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณไปแจกประชาชน โดยปัจจุบันประเทศไทยยังไม่เติบโตเท่าศักยภาพที่เรามี และยังอยู่ในความเปราะบาง ซึ่งนโยบายนี้กระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกครั้ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างโอกาส เพิ่มการจ้างงาน การลงทุน ภาคธุรกิจขยาย สร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชน เพื่อมุ่งสู่ e-Government ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีเพียงนโยบายเดียว แต่ดิจิทัล วอลเล็ตเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่เราทำ

”จากการสำรวจเราเชื่อว่าประชาชนรอนโยบายนี้อย่างมีความหวัง ซึ่งเรารับฟังข้อเสนอแนะ แต่ก็ต้องพยายามเดินหน้าให้สำเร็จเป็นไปตามวัตถุประสงค์ให้ได้ โครงการนี้จึงจำเป็น และสามารถรีสตาร์ทชีวิตของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง“

นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่าเงินดิจิทัลไม่ใช่การเสกเงินขึ้นมาใหม่ ทุกอย่างยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้เขียนโปรแกรมใหม่ ไม่มีการปรับเปลี่ยนมูลค่า บาทต่อบาทไทย เป็นเพียงนำเงินมาใช้ผ่านระบบดิจิทัล และถูกกำหนดเงื่อนไขในการใช้ เพื่อให้สามารถหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านที่สุดเท่านั้น

ดังนั้น เงื่อนไขที่เรากำหนด คือ ระยะทาง ประเภทสินค้า จึงนำไปสู่คำตอบที่ว่า ทำไมนโยบายนี้จึงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่านโยบายอื่น ๆ ที่ผ่านมา เพราะเงินนี้ไม่สามารถนำไปสู่การออม การชำระหนี้สิน แต่จะนำไปสู่การจ้างงาน การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่เรื่องรัศมีในการใช้เงิน และมีความโน้มเอียงว่าจะขยายขอบเขตรัศมีการใช้ ซึ่งจะมีข้อสรุปชัดเจนในช่วงสิ้นเดือนนี้

ส่วนเรื่องแหล่งที่มาของเงิน นายจุลพันธ์ ระบุว่า ยังต้องใช้เวลาในการพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยึดมั่นในหลักวินัยการเงินการคลัง ถ้าดูการทำงานของรัฐบาลเพื่อไทยที่ผ่านมา จะรู้ว่าเรารู้ว่าวินัยทางการเงินสำคัญ ใช้แหล่งของงบประมาณเป็นหลักใหญ่ รายละเอียดรอช่วงสิ้นเดือนจะมีความชัดเจนเช่นเดียวกัน

“รัฐบาลจะใช้ประสบการณ์ที่มี ยึดมั่นกรอบงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แม้จะมีเสียงสะท้อนเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ถ้ายังอยู่ในกรอบเดิม ประชาชนก็ไม่สามารถหลุดออกจากกรอบเดิมได้ เราต้องหาจุดสมดุลให้ประชาชนออกจากจุดเดิม จึงจำเป็นต้องเดินหน้าโครงการนี้ ยืนยันว่ารับฟังเสียงทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการที่สนับสนุน และคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนที่รอการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ประชาชนที่รอคอยอย่างมีความหวัง ก็ต้องไปถกกันในคณะอนุกรรมการ และจะประชาสัมพันธ์ทุกอย่างภายใน สิ้นเดือนตุลาคมนี้แน่นอน” นายจุลพันธ์ กล่าว

นายจุลพันธ์ กล่าวอีกด้วยว่า การนัดหมายการประชุมกันของคณะอนุกรรมการคือวันพฤหัสบดีที่ 12 ต.ค. นี้ เพื่อถกในเรื่องความจำเป็น ประโยชน์ วัตถุประสงค์ของโครงการ และแถลงข่าวความคืบหน้าหลังการประชุม รวมถึงมอบหมายงานด้วย และในวันพฤหัสบดีที่ 19 ต.ค. จะประชุมคณะอนุกรรมการครั้งที่ 2 เพื่อหาข้อสรุปเสนอแนวทางต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ และคาดว่าในวันอังคารที่ 24 ต.ค. จะนำเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ส่วนจะมีข้อสรุปอย่างไรก็ต้องรอติดตาม

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การเติมเงินครั้งนี้ไม่เหมือนกับการเติมเงินในอดีต เรามีเงื่อนไขเพื่อให้ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในเชิงบวกมากกว่าการกระจายงบประมาณแบบเดิม เปลี่ยนจากอนาล็อกเป็นดิจิทัล ทำให้ใช้เงินง่ายกว่า ไวกว่า และเงินในครั้งนี้ก็มีจำนวนมากต่อครอบครัว ที่จะส่งผลให้เกิดการลงทุนขนาดเล็ก เกิดการสร้างอาชีพใหม่ การลงทุนใหม่ ๆ ความเหลื่อมล้ำลดลง

นายเผ่าภูมิ ระบุว่ากรณีที่หลายคนมองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมิติเดียว ยังไม่ได้ครบถ้วนรอบด้าน ยืนยันว่า เรามีนโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติม มองไปถึงการสร้าง Super Application นำประเทศไปสู่ Digital Economy รวมถึงมีแผนและมาตรการในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และอีกเรื่องคือความแตกต่างกันระหว่างเสถียรภาพ กับศักยภาพ ที่ผ่านมาเราโตแบบมีเสถียรภาพ แต่โตต่ำ ไม่เพียงพอ แนวคิดใหม่นี้คือให้โตไปทั้งคู่ทั้งศักยภาพและเสถียรภาพ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงชดเชยรายจ่ายอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอที่กระทรวงการคลังต้องนำไปพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

ด้าน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า หาก GDP ลดลงอีก จะกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้จึงถือว่าไม่ผิด การกลับไปอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ และจะทำได้หรือไม่ หรือทำได้กี่มาตรการถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องไปให้ถึง นโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน จะต้องทำงานในลักษณะที่ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งนโยบายการคลังเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่นโยบายการเงินเน้นที่เสถียรภาพ

“เปรียบเสมือนการขับรถยนต์ นโยบายการคลังเป็นคันเร่ง นโยบายการเงินเป็นเบรค แต่เราต้องมีจังหวะในการขับรถคันนี้ที่ไปด้วยกัน จะเร่งเมื่อไหร่ จะเบรคเมื่อไหร่ ต้องเป็นจังหวะที่ผสมผสานกัน การขับรถคันนี้ถึงจะไปได้อย่างนุ่มนวล ปลอดภัย เราคงไม่อยากเห็นการเหยียบคันเร่งและเบรคพร้อมกัน คงไม่เกิดประโยชน์ต่อรถคันนี้ และประเทศนี้” นายลวรณ กล่าว

ส่วนการพิจารณาข้อเสนอให้มีการพิจารณาแบ่งจ่าย หรือจ่ายเป็นกลุ่ม หลังจากที่มีการวิพากย์วิจารณ์นั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า มีอยู่ในข้อเสนอที่เราจะนำไปถกกัน เรารับฟังทุกความเห็น แต่ยังไม่มีข้อสรุป และการจะจ่ายแค่กลุ่มเปราะบางนั้น ตนเองไม่อยากให้คิดแบบนั้น อยากให้มองว่า กลุ่มเปราะบางได้แน่นอน และต้องไม่กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักของโครงการ และเชื่อว่าคนรวยที่สุดคงไม่ได้มีความต้องการที่จะเข้าโครงการนี้

เมื่อถามว่าเป้าหมายในการทำให้ GDP โตขึ้น 5 % ในทุกปีอย่างไร นายจุลพันธ์ ระบุว่า เชื่อว่าไม่ได้มีโครงการนี้รอบเดียวแน่นอน ไม่คิดว่าจะจบ 6 เดือน และจะเป็นตัวเลือกสำหรับการแลกเปลี่ยนในอนาคต

ส่วนข้อจำกัดด้านแหล่งเงินที่ทำให้ยังไม่ได้ข้อสรุปนั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า จะใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้มีตัวเลือกมากกว่า 1 ทางเลือก จึงยังสรุปไม่ได้ เลยจะใช้กลไกที่มีความเหมาะสมอาจจะผสมผสานก็ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เมื่อถามถึงการทบทวนการพิจารณางบประมาณปี 67 นายจุลพันธ์ ระบุว่า อยู่ในขั้นตอนของสำนักงบฯ ก็ต้องกลับไปถามทางสำนักงานงบฯ

Related Posts

Send this to a friend