‘จุลพันธ์‘ ชี้ ไทยต้องจัดงบฯ ขาดดุลจนถึงปี 71 หวังเศรษฐกิจฟื้นตัว
‘จุลพันธ์‘ ยันรัฐบาลจัดเก็บรายได้ตามเป้าก่อนสิ้นปีงบฯ 67 รับ ‘กรมสรรพสามิต‘ พลาดเป้าหลายหมื่นล้าน เหตุรัฐบาลช่วยเหลือประชาชนด้านราคาพลังงาน ชี้ ไทยต้องจัดงบฯ ขาดดุลจนถึงปี 71 หวัง ศก. ฟื้นตัว ลดกรอบหนี้สาธารณะ
วันนี้ (9 ก.ย. 67) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 10 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ลงมติเห็นชอบแล้ว นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงถึงข้อซักถามของ สว. ถึงการตั้งงบประมาณขาดดุลว่า หากดูในภาพรวม การจัดเก็บรายได้จาก 3 กรมหลักจัดเก็บภาษี และย้อมรับว่า ยังมีปัญหาคาราคาซังอยู่
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เปอร์เซ็นต์การจัดเก็บรายได้เทียบต่อ GDP ของเราลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องใน 10 กว่าปีย้อนหลัง ปัจจุบันอยู่ที่ 14% หากเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนาเหมือนกัน หรือมีขนาดใกล้เคียง ควรจัดเก็บได้ไม่ต่ำกว่า 18-19% แต่ทั้งนี้ทางหน่วยงานจัดเก็บได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพ แผนในการจัดเก็บ เพื่อยืนยันได้ว่า ในอนาคตรัฐบาลสามารถดึงคนเข้าสู่ฐานภาษีได้
ส่วนในข้อห่วงใยเรื่องการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่ผ่านมานั้น ในปีงบประมาณ 2567 มีการจัดเก็บพลาดเป้า เพราะรัฐบาลตั้งแต่สมัย นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเรื่องราคาพลังงาน จึงทำให้การจัดเก็บของกรมสรรพสามิตพลาดเป้าหลายหมื่นล้าน แต่เหลือเพียงอีกหนึ่งเดือนก่อนจะหมดปีงบประมาณ 2567 ยืนยันว่า การจัดเก็บรายได้ไม่พลาดเป้า และเป็นไปตามกรอบที่เราได้กำหนดไว้ เพราะมีการใช้การบริหารจัดการในแง่มุมอื่นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ การบริหารจัดการรายได้ของรัฐวิสาหกิจทำให้การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2567 เป็นไปตามเป้าหมาย
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2568 เรามีความเชื่อมั่นว่า ประสิทธิภาพการทำงานหน่วยงานของกระทรวงการคลังในการดำเนินการเรื่องของรายได้ต่าง ๆ จะดำเนินการไปตามเป้าหมายทุกประการ และในเรื่องของการขาดดุลงบประมาณ กระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการขาดดุลงบประมาณ การบริหารจัดการทำแผนการคลังระยะปานกลาง (MTFF) ซึ่งแผนการคลังระยะปานกลางมีการปรับปรุงทบทวนอยู่ตลอด และล่าสุดมีการทบทวนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
“ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนายังมีความจำเป็นทำนโยบายในลักษณะขาดดุลการค้าไปก่อนในระยะสั้นจนกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ และขยับเข้าสู่การทำงบประมาณแบบสมดุลในระยะต่อไป ซึ่งต้องเรียนว่า การปรับลดการขาดดุลจาก ปี 2568 – 2571 เรามีแผนในการที่จะดำเนินการเพื่อให้การขาดดุลงบประมาณลดลงเหลือร้อยละ 3.1 ต่อไปในอนาคต” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า หากในปี 2571 การที่เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ ซึ่งจะเป็นตัวยืนยันว่า กรอบหนี้สาธารณะลดลง ก็เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือนก็ตาม หากเราสามารถขยายการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจได้ในระยะกลาง และในระยะยาวต่อไป กรอบหนี้สาธารณะก็จะอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้