POLITICS

‘ปริญญา’ มองระบบใหม่เลือก สว. ซับซ้อนที่สุดในโลก

กังวลผู้สมัครอาจไม่รู้จักกันเมื่อถึงขั้นตอนเลือกข้ามกลุ่มอาชีพ แนะแก้ระเบียบแนะนำตัว

นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการประเมินผลการทำงานของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบันที่กำลังจะครบวาระลงในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ว่า ผลงานเป็นที่เข้าตาของ คสช. ดูได้จากการเลือกนายกรัฐมนตรี 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ปฎิเสธไม่ได้ว่า สว.ชุดนี้จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสืบทอดอำนาจ

ขณะเดียวกัน สว.ที่กำลังจะเข้าไปใหม่จะมีบทบาทสำคัญในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่กำลังจะครบวาระลงภายในปีนี้หลายองค์กร ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระขององค์กรอิสระหลายองค์กร ดังนั้น สว.ชุดใหม่ที่เข้ามาต้องมีบทบาทในการทำให้องค์กรอิสระมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง

นายปริญญา มองว่าการเลือก สว.ครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะเลือกบุคคลเข้ามาท่ามกลางคำถามว่าจะมีใครครอบงำ สว.ได้ถึง 1 ใน 3 เพื่อขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าครั้งนี้ไม่มีใครเข้าไปครอบงำได้ชัดเหมือนครั้ง คสช. แต่กระบวนการเลือก สว.ครั้งนี้ซับซ้อนที่สุดในโลก ไม่แน่ใจว่าจะบรรลุเป้าหมายได้ผู้แทนปวงชนอย่างแท้จริงหรือไม่ และไม่ใช่แค่ตัวระบบที่ซับซ้อน ยังรวมถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเช่นกัน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสงสัยว่ามีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงหรือไม่ โดยเฉพาะการตัดสื่อมวลชนและประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมของการตรวจสอบ เพราะหากประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในการเลือก สว. จะต้องเป็นผู้สมัคร สว.เท่านั้น และต้องเสียค่าสมัครถึง 2,500 บาท

ขณะเดียวกัน นายปริญญา ยังมองว่า การที่ กกต.ยืนยันว่าจะสามารถประกาศรายชื่อ สว.ได้ในวันที่ 2 กรกฎาคม ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ระบุว่าผู้สมัครสามารถคัดค้านผลการเลือกได้หากพบความไม่ชอบมาพากลที่อาจจะผิดกฎหมาย แต่เมื่อผู้สมัครมีนับ 100,000 คน หากมีการคัดค้านจะทำให้ประกาศผลได้ทัน 2 กรกฎาคมหรือไม่ หากไม่ทันจะทำให้ สว.ชุดปัจจุบันรักษาการต่อไปอีก แม้ระบบการเลือกจะเปลี่ยนไม่ได้ แต่ระเบียบและประกาศที่ กกต. ออกมาสามารถเปลี่ยนแปลงได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีเวลาจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. โดยเฉพาะประเด็นการแนะนำตัว เมื่อไม่ให้ใช้เอกสารในการแนะนำตัว จะทำให้ผู้สมัครไม่รู้จักกันเลยเมื่อถึงขั้นตอนของการเลือกข้ามกลุ่มอาชีพ จึงจะเป็นช่องว่างที่ทำให้ผู้สมัครที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีเครือข่าย หรือไม่ใช่บ้านใหญ่ ไม่ได้รับการรับเลือก

Related Posts

Send this to a friend