การประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันนี้ (9 ก.พ. 64) มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกรัฐสภา ผู้เสนอญัตติ ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ระบุให้รัฐสภาทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ให้อำนาจเพียงการแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ การตีความตามกฎหมายมหาชนหากรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียน จึงไม่สามารถทำได้ อีกทั้ง ถ้ารัฐสภาไม่ส่งตีความเกรงว่าจะเกิดปัญหาในการลงมติในวาระสามที่มีเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไม่เพียงพอ
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า ควรส่งศาลรัฐธรรมนูญหลังจากผ่านวาระสามแล้วนั้น ส่วนตัวกังวลว่าจะทำให้ต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก เพราะเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญและลงมติแล้วเสร็จก็ต้องเดินหน้าทำประชามติ
ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกรัฐสภา ไม่เห็นด้วยเนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ ลดความขัดแย้งทางการเมือง และเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้ถูกกล่าวหาว่ามีเจตนาแอบแฝง ดังนั้น ทางออกที่ดีควรถอนญัตติเพื่อสร้างความสมานฉันท์และชอบธรรม และใช้สิทธิ์ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่า การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรมในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ผู้เสนอญัตติถอนญัตติออกไปก่อน และขอให้ไปใช้สิทธิ์ในส่วนที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกรัฐสภา ระบุว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาได้ก็ต่อเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 เพียงแต่สมาชิกรัฐสภาเห็นว่าเกิดปัญหาก็สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ ตนถือว่าเป็นการพยายามขยายอำนาจของตุลาการจนล้นเกิน ทำให้ตุลาการมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการถ่วงดุลอำนาจ ขณะเดียวกันขอให้สมาชิกรัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติยอมรับในโลกาภิวัตน์ใช้เอกสิทธิ์ที่มีเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยการทำให้การแก้ไขรัฐธรรมเป็นเรื่องปกติและสามารถดำเนินการได้ในอำนาจรัฐสภา
ขณะนายนิกร จำนง สมาชิกรัฐสภา คัดค้านญัตติดังกล่าวเนื่องจาก รัฐสภาต้องรักษาอำนาจนิติบัญญัติให้ดีเพื่อเป็นหลักในการคานอำนาจ หากรักษาไว้ไม่ได้จะสูญเสียกลไกของระบบประชาธิปไตยอาจจะนำไปสู่การล่มสลายของระบบประชาธิปไตย
อีกทั้งการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม ไม่ใช่เพื่อบุคคลใดหรือพรรคการเมืองใด รวมถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่รัฐสภากระทำได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 อีกทั้งการแก้ไขมาตรา 256 เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ได้
อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ ขอให้ถอนญัตติดังกล่าว เนื่องจากรัฐธรรมนูญต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชนโดยการทำประชามติ ก่อนที่จะนำไปสู่การแต่งตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เกิดจากสถานการณ์การเมืองไม่มีเสถียรภาพ และเพื่อให้คณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เดินหน้าแก้ปัญหาการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
นอกจากนี้ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกรัฐสภา เห็นด้วยที่จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตีความ เนื่องจาก เกิดข้อถกเถียงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกรณีดังกล่าวไม่สามารถใช้เสียงข้างมากตัดสินได้ ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะถือว่ามีผลผูกพันทุกองค์และหากเกิดการใช้อำนาจโดยไม่ชอบจะให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ
จนในที่สุด ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบ 366 เสียง ไม่เห็นด้วย 315 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านได้เรียกร้องให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เร่งติดประกาศผลการลงคะแนนโดยเร็ว