POLITICS

‘ดร.พิสิฐ’ ชี้ แจก เงินดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เสี่ยงเพิ่มหนี้สาธารณะ

‘ดร.พิสิฐ’ ชี้ แจก เงินดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เสี่ยงเพิ่มหนี้สาธารณะ ‘สมชัย’ เชื่อเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอด ปชช.ได้เงินจริงต้นเดือน พ.ค. ปีหน้า ด้าน ‘ธีระชัย’ หวั่น นโยบายนี้เกรงจะเป็นการสร้างประเพณีทางการเมือง พาประเทศลงเหว

วันนี้ (8 พ.ย. 66) สภาที่ 3 และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดงานเสวนา “แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต หายนะหรืออนาคตประเทศ” ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ดร.ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.มานะ มหาสุวีระชัย อดีตประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และนายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในช่วงแรก นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวแสดงความเห็นถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่าเดิมหลายคนมองว่านโยบายดังกล่าวดีและง่าย รัฐบาลน่าจะทำได้ แต่ตอนนี้ 2 เดือนที่ผ่านมาของความพยายามรัฐบาลน่าจะประสบปัญหา โดยมีความผิดพลาดจากการบริหาร 4 เรื่อง ประกอบด้วย

1) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรก สั่งให้ทุกหน่วยงานทบทวนคำของบประมาณขึ้นมาใหม่ เพื่อเริ่มนับหนึ่งทั้งหมด เพื่อคาดหวังการรีดไขมันและตัดงบส่วนที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือเงินกองกลางมากขี้น เป็นผลให้ปฏิทินงบประมาณฯ ถูกเลื่อนออกไปจนเกิดความล่าช้า ไปจนถึง เม.ย. หรือปลาย พ.ค. ปี 2567 อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวยังทำให้งบประมาณต่างๆ คงเดิม ถือเป็นการบริหารราชการแผ่นดินที่ทำให้งบประมาณล่าช้าออกไป

2) ในช่วงแรกของการจัดตั้งรัฐบาล ได้หลุดคำว่า “รัฏฐาธิปัตย์” ซึ่งความเป็นจริงรัฐบาลไม่ได้มีอำนาจสูงสุดที่สามารถสั่งทุกคนได้ ยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายต่างๆ และข้าราชการต่างก็มีความระวังตัวกัน เนื่องจากรัฐบาลในชุดนี้มีความเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป

3) รัฐบาลศึกษากฎหมายต่างๆ ไม่รอบคอบ ทั้งวินัยการเงิน การคลัง และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ คิดว่าตนเองรู้จริง แต่เมื่อลงมือทำแล้วจึงเกิดการติดขัด แม้จะยืมเงินจากธนาคารออมสินก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่ได้ศึกษากฎหมายอย่างถี่ถ้วน ส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดและการทำงานที่ล่าช้า

4) เกิดภาวะอวิชชา คือความไม่รู้จริง แต่ไปบอกกล่าวในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เป็นการพูดคำใหญ่ทั้งสิ้น เช่น เงิน 5 แสนล้านบาท จะจ่ายเป็นก้อน ทุกกลุ่ม แต่เป็นไปไม่ได้จริง จึงต้องถอยมาตั้งหลัก

โดยวันที่ 10 พ.ย. ที่จะมีการแถลงข่าวความชัดเจนเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนี้ ดูจากท่าทาง เชื่อว่ารัฐบาลต้องเปลี่ยนทางออกใหม่ เช่น เลื่อนการแจกเงินจากเดิม เดือน ก.พ. เป็นต้นเดือน พ.ค. เพราะต้องรอ พ.ร บ. งบประมาณฯ ทูลเกล้าฯ ช่วงเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นเงินที่มาจากงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงเปลี่ยนการจ่าย จากเดิมที่จะจ่ายเป็นก้อนกลายเป็นทยอยจ่าย ซึ่งจากที่คณะอนุกรรมการกล่าวว่า จะใช้งบประมาณผูกพัน 4 ปี ใช้วิธีแจกปีละ 2,500 บาท ให้คนอายุ 16 ปีขึ้นไป จนครบ 4 ปี

นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า ด้วยวิธีดังกล่าว พายุหมุนกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้น เพราะแจกเพียง 2,500 บาทต่อปี จะเป็นเพียงลมสงบนิ่ง ไม่เกิดความเคลื่อนไหว แต่ประชาชนคงรู้สึกว่ายังดีกว่าไม่ได้เงินเลย และหากรัฐบาลไม่แจกก็เสียความน่าเชื่อถือ จึงต้องทำเป็นนโยบายขายผ้าเอาหน้ารอด

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ระบุว่า หากรัฐบาลยังดันทุรังดำเนินการต่อในรูปแบบเดิม จะเกิดความเสี่ยงในกระบวนการคลัง และเกิดหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะแก้ไขได้ยาก ขณะที่ประเทศไทยยังหารายได้จากการจัดเก็บภาษีได้ยาก ดังนั้น นโยบายดังกล่าวฟังเผินๆ เหมือนจะง่าย แต่ยังคงสร้างความงุนงงสงสัยเรื่องที่มาของงบประมาณแก่พี่น้องประชาชน

ดร.พิสิฐ มองว่า การแจกเงินเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 16 ปี แต่เด็กอายุน้อยกว่านั้นก็ต้องใช้จ่ายซื้อของ ทุกคนในเมืองไทยต้องเสียภาษี นโยบายนี้จึงอาจมีความไม่เป็นธรรมด้วย เพราะเด็กที่ไม่ได้เงิน กลับต้องเสียภาษีมาชดใช้หนี้สาธารณะ และเงินที่มอบให้คนรวยก็จะไม่ถูกใช้จ่าย แต่เก็บเอาไว้ จึงไม่ได้สร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจตามเป้าประสงค์

ดร.พิสิฐ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้ปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ยากไร้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแจกทั้งหมดทุกคน เวลานี้งบประมาณที่ตั้งไว้ แต่รัฐบาลขยับให้การขาดดุลเพิ่มอีกราวแสนล้านบาท และนโยบายเงินดิจิทัลจะยิ่งทำให้สถานะการคลังย่ำแย่ลงไปอีก จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง

ส่วนงบประมาณ 5 แสนกว่าล้าน จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ ดร.พิสิฐ กล่าวว่า ความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท มากกว่ารัฐบาลปัจจุบันถึง 3 เท่าตัว ยังทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เลย โอกาสที่จะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหลายรอบก็เป็นไปได้ยาก เพราะไทยมีมูลค่าส่งออกสูง เงินจะรั่วไหลไปต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งปัจจุบันอัตราการขยายตัวของ GDP ไทยโตช้ามาก ส่วนตัวเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการทำนโยบายแจกเงินดิจิทัล เพราะการกระตุ้นโดยการบริโภคไม่มีประเทศไหนทำได้สำเร็จ ทั้ง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ดร.พิสิฐ ชี้ว่า เวลานี้รัฐบาลควรรีบนำงบประมาณชั่วคราวที่กฎหมายอนุญาตออกมาใช้ก่อน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ควรต้องมุ่งการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่เร่งด่วนคือเรื่องขาดแคลนน้ำจากภาวะเอลนีโญ หากนำงบมาลงทุนเรื่องนี้ ประชาชนจะได้มีน้ำใช้โดยไม่เปลืองค่าใช้จ่าย

“การกู้เงินออกมาใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชน ดีกว่าการที่กู้ออกมาเพื่อแจกเงินให้ประชาชน กู้มาสร้างรถไฟฟ้า จัดการเขื่อนยังได้ผลลัพธ์และประโยชน์ที่ดีกว่า” ดร.พิสิฐ กล่าว

ด้านของ ดร. ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ระบุว่า วันนี้ไม่ได้มาเพื่อจะคัดค้าน แต่มาเพื่อให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี เพราะตนเองก็มีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งนี้ยังมีข้อสังเกตทางวิชาการ โดยมองว่า ความจริงนโนบายนี้อาจไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจมากเท่าที่รัฐบาลหาเสียงไว้

ดร.ธีระชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ได้เลวร้าย ประเมินจากตัวเลข GDP แต่รัฐบาลต้องการแจกเงินเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค แต่ถ้าเรื่องนี้กลายเป็นประเพณีไป ในอนาคตพรรคการเมืองจะแข่งขันกันแจกเงิน และอาจพาประเทศลงเหว สังคมต้องช่วยกันคิดถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่จะตามมา

ในส่วนของแหล่งที่มาของงบประมาณ ธนาคารออมสินพูดชัดเจนว่าไม่สามารถให้รัฐบาลกู้ได้ เนื่องจาก พ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มีเงื่อนไขคือ มาตรา 9 วรรค 3 หากเป็นการทำโครงการเพื่อสร้างความนิยมทางการเมือง แต่ก่อความเสียหายกับประเทศ จะทำไม่ได้ และการให้รัฐวิสาหกิจนำเงินมาใช้ในโครงการ จะต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจนั้น ขณะที่เรื่องงบค้างท่อนั้น ไม่ใช่งบเปล่าแต่เป็นงบมีเจ้าของ เพราะโครงการผ่านการอนุมัติโดยรัฐสภา อยู่ในกฎหมาย โดยไม่ได้ยกเลิก ดังนั้น รัฐบาลต้องเสนอต่อสภาก่อนจึงจะใช้งบค้างท่อเหล่านี้ได้ มิเช่นนั้นจะผิดหลักการ

ดร.ธีระชัย ตั้งข้อสังเกตว่า การมีงบประมาณผูกพันจะเป็นการใส่กุญแจมือรัฐบาลในอนาคต แต่หากเป็นโครงการที่นำงบประมาณมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นเรื่องสง่างาม แต่หากเป็นโครงการที่ทำเพื่อความนิยมทางการเมือง จะเป็นเรื่องที่ส่งผลอันตราย

ดร. มานะ มหาสุวีระชัย เสนอวิธีแก้ปัญหาให้รัฐบาลใช้เงินอย่างเป็นประโยชน์มากกว่านำไปแจก โดยมองว่า นโยบายเงินดิจิทัลถือว่าดีมาก เพราะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลได้ ถือเป็นนโยบายที่คิดใหญ่จริง แต่จะทำเป็นหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ เพราะผ่านมา 2 เดือน การชี้แจงของรัฐบาลสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนไปทั่ว และมีแนวโน้มจะทิ้งแนวคิดดิจิทัลวอลเล็ตด้วย

ดร.มานะ กล่าวว่า หากรัฐบาลจะทิ้งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นของใหม่ กลับไปใช้อีวอลเล็ตแบบปัจจุบัน จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสมหาศาล และพรรคเพื่อไทยจะถูกยัดเยียดสโลแกนว่า “คิดใหญ่ แต่ทำไม่เป็น” จึงขอให้นายกรัฐมนตรีไตร่ตรองเรื่องนี้ให้รอบคอบ ก่อนจะแถลงอย่างชัดเจน อย่านำเรื่องของเงื่อนเวลามามัดกัน แต่ต้องทำให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

ดร.มานะ เสนอทางแก้ว่า อีวอลเล็ตซึ่งเป็นระบบเก่า มีการบันทึกข้อมูลแบบรวมศูนย์อำนาจ และมีเจ้าของข้อมูลแต่ผู้เดียว เป็นระบบปิด ต่างจากดิจิทัลวอลเล็ตที่บันทึกข้อมูลลงบล็อกเชน จึงกระจายอำนาจให้หลายฝ่ายสามารถร่วมกันบันทึกข้อมูลได้โดยไม่มีเจ้าของ ที่สำคัญดิจิทัลวอลเล็ตเป็นระบบเงินสด สามารถส่งต่อมูลค่าเงินกันแล้วได้โดยตรง ขณะที่อีวอลเล็ตเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนเครดิตเท่านั้น ยังต้องมีกระบวนการหลังบ้านที่ใช้ค่าใช้จ่ายอีกมาก

การแก้ไขปัญหาจาก นโยบายดังกล่าว รัฐบาลจึงควรมอบหมายธนาคารแห่งประเทศไทยให้สร้างสกุลเงินดิจิทัล หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ขึ้นมา เป็นระบบการเงินแบบใหม่บนบล็อกเชน ให้สอดคล้องกับนโยบายเงินดิจิทัล เพื่อสร้างปรากฏการณ์ให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้สะดวก ปลอดภัย กว่าระบบปัจจุบันได้อย่างมหาศาล เพราะลดค่าใช้จ่ายดำเนินการหลังบ้านของแต่ละธนาคารได้ รวมถึงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ

Related Posts

Send this to a friend