POLITICS

กทม.สั่งปิดสถานบันเทิง 3 แห่งทั่วกรุงฯ เร่งปรับปรุง หวั่นเสี่ยงอันตราย

วันนี้ (8 ส.ค.65) รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา กทม.ได้ตรวจสถานประกอบการ 494 แห่ง พบสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ที่สำรวจพบปัญหาลักษณะทางเข้าออก หรือประตูทางออก จำนวน 83 แห่ง ปัจจุบันสั่งปิดให้บริการแล้ว 3 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินคดี 2 แห่ง แก้ไขเรียบเรียบร้อยแล้ว 4 แห่ง ออกหนังสือให้แก้ไขแล้ว 12 แห่ง อยู่ระหว่างออกหนังสือให้ดำเนินการแก้ไข 62 แห่ง โดยให้ระยะเวลาสถานประกอบการในการปรับปรุง ให้ตรงตามมาตรฐาน 7 วัน และต้องปิดให้บริการเพื่อความปลอดภัย รวมถึงรายงานความคืบหน้ากับทาง กทม.ด้วย

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า กทม.กวดขันมาตรฐานความปลอดภัยในสถานประกอบการอย่างเข้มงวด เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย จึงต้องตรวจสอบสถานประกอบการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยสถานประกอบการทั้ง 83 แห่งไม่ตรงตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น บางรายตักเตือนด้วยวาจา เพราะเป็นเรื่องที่ปรับปรุงได้โดยเร็ว แต่บางรายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้บริการ จำเป็นต้องสั่งปิด หากไม่แก้ไขจะไม่สามารถเปิดให้บริการได้

กรอบระยะเวลาการตรวจ โดยปกติศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) จะดำเนินการตรวจสถานประกอบการ แต่มุ่งเน้นไปที่การตรวจโรค และคลัสเตอร์ แต่เมื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายตรวจมาตรฐานความปลอดภัย สำนักเทศกิจ และสำนักงานเขตต้องรายงานเกี่ยวกับสถานประกอบการที่ต้องสงสัยว่า ไม่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิด-19 และการประกอบกิจการที่ไม่ตรงกับใบอนุญาต ทุกสัปดาห์

นอกจากนี้สำนักงานเขตจะต้องมีแผนการตรวจมาตรฐานความปลอดภัย ร่วมกับสำนักการโยธา ที่จะตรวจเรื่องโครงสร้าง การใช้พื้นที่ และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่จะต้องตรวจวัสดุ ความเสี่ยง และระบบไฟ

“เราพยายามจะตรวจสถานประกอบการทุกที่ที่มีข้อสงสัย และร่วมมือกับตำรวจ และหน่วยงานอื่นให้รอบคอบและรัดกุมขึ้น”

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ขอให้สถานประกอบการ สื่อสารเรื่องประตูทางออก และวัสดุไวไฟไปยังประชาชนที่ใช้บริการอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน

นายขจิต ชัชชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ระบุว่า สถานประกอบการที่ไม่ตรงตามมาตรฐานส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องการตรวจจับควันไฟ ถังดับเพลิงมีไม่ครบตามจำนวนที่กำหนด ทางหนีไฟ แสงสว่าง และไฟสำรอง ซึ่ง กทม.ลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการทั้งกลางวัน และกลางคืน พร้อมทั้งกำชับห้ามเปิดเกินเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ต้องเน้นย้ำกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับ กฎกระทรวงข้อกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ พ.ศ.2555 ส่วนกรณีที่พบว่า เขตจตุจักรมีสถานประกอบการที่ไม่ได้มาตรฐาน 38 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นร้านที่มีดนตรีเล่นแล้วไม่เป็นไปตามมาตรฐานประมาณ 5 แห่ง ได้สั่งการยกเลิกการแสดงดนตรีแล้ว โดยอีก 30 แห่ง จะเร่งตรวจสอบต่อไป

Related Posts

Send this to a friend