POLITICS

สธ.ส่งผู้ตรวจฯ ร่วมหาทางออกปัญหาแพทย์ รพ.ราชบุรี

เบื้องต้นมอบหมายให้ นพ.สสจ.ส่งแพทย์ รพ.ชุมชน เข้าช่วยแบ่งเบาภาระงาน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ตามนโยบาย 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 ลงพื้นที่โรงพยาบาลราชบุรี เพื่อติดตามรับฟังการทำงานของแพทย์ Intern แพทย์พี่เลี้ยง และสตาฟฟ์ หลังมีข่าวแพทย์ลาออก เผยมีเสียงสะท้อนเรื่องภาระงานหนัก ขอปรับการออกตรวจให้ตรงเวลา พร้อมกันนี้ทีมผู้บริหารโรงพยาบาลพร้อมปรับปรุง และมอบให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือ นพ.สสจ.กระจายแพทย์ รพ.ชุมชน มาช่วย รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ตามอัตราครองเตียง และจำนวนการส่งต่อ

พญ.อัจฉรา เผยว่า “ได้รับมอบหมายจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ไปติดตามและรับฟังปัญหาในการทำงาน ของแพทย์โรงพยาบาลราชบุรี ทั้งแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (Intern) แพทย์พี่เลี้ยง และทีมแพทย์สตาฟฟ์ หลังมีข่าวแพทย์ลาออกจากภาระงานหนัก โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดด้านเวชกรรมป้องกัน แพทย์สตาฟฟ์และตัวแทนแพทย์ Intern แพทย์พี่เลี้ยง เข้าประชุม ร่วมกันกว่า 30 คน เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงระบบ”

“บรรยากาศการหารือและการให้ข้อเสนอต่างๆเป็นไปด้วยดี น้องแพทย์ Intern รู้สึกดีที่กระทรวงให้ความสนใจ และส่งผู้บริหารมาร่วมรับฟัง ทีมแพทย์สตาฟฟ์ได้สะท้อนถึง นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ดูแลแพทย์ Intern ในการเพิ่มพูนทักษะ ว่าพร้อมที่จะช่วยกันพัฒนาเรื่องนี้ให้ดีขึ้น รวมถึงรับฟังประเด็นปัญหา ที่มีการพูดถึงในสื่อโซเชียลต่างๆ เพื่อนำมาพูดคุยและช่วยกันพัฒนาให้ระบบบริการดีขึ้น โดยได้จัดอาจารย์ของศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา มาเป็นผู้ดูแลแพทย์ Intern ของโรงพยาบาลด้วย

“ในการพูดคุยครั้งนี้ แพทย์ Intern และแพทย์พี่เลี้ยงได้สะท้อนปัญหา เรื่องภาระงานที่ค่อนข้างหนัก และอยากให้ปรับปรุง การออกตรวจผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอกให้ตรงเวลา ซึ่งผู้บริหารโรงพยาบาลและประธานองค์กรแพทย์ได้รับทราบ และจะนำไปแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป”

“สำหรับปัญหาขาดแคลนแพทย์ของพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 พบว่ามีหลายจังหวัด ทั้งกาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ สาเหตุจากมีแพทย์ลาออกมากขึ้น และเขตสุขภาพที่ 5 ได้รับการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนมาค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลแหล่งฝึก 16 แห่ง แนวทางแก้ไขเบื้องต้น ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขแต่ละจังหวัด เกลี่ยแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนมาช่วยโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ตามนโยบาย 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล (One Province One Hospital) โดยพิจารณาจากอัตราครองเตียง และจำนวนการส่งต่อมาโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งจะมีการติดตามข้อมูล และประเมินผลการดำเนินการเป็นระยะต่อไป”

Related Posts

Send this to a friend