POLITICS

ชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงจาก 7 จังหวัดอีสาน ชี้เขื่อนน้ำโขงข้ามพรมแดน กระทบระบบนิเวศ ทำวิถีชีวิตชาวประมงเปลี่ยน

ชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงจาก 7 จังหวัดอีสาน ชี้เขื่อนน้ำโขงข้ามพรมแดน กระทบระบบนิเวศ ทำวิถีชีวิตชาวประมงเปลี่ยน ด้าน ‘กสม.’ เตรียมยื่นข้อเสนอจี้รัฐบาลทบทวนสัญญาซื้อไฟจากลาว จ่อเปิดกระบวนการไต่สวนสาธารณะ ย้ำ ประชาชนควรมีสิทธิ์รับรู้ข้อมูลข่าวสาร

ตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงจาก 7 จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับกรณีศึกษาปัญหาและผลกระทบโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่ขวางกั้นแม่น้ำโขง ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ในเวทีเสวนา “เขื่อนโขงน้ำใส แต่ (ไฟฟ้า) ไม่สะอาด” ในเดือนแห่งการจัดกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลก เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ แพกลุ่มประมงพื้นบ้าน อ.เชียงคาน จ.เลย

นางสอน จำปาดอก ชาวประมงพื้นบ้าน จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากเป็นจังหวัดท้ายน้ำโขงของไทย โดยอนาคตจะมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเกิดขึ้นที่นี่ ซ้ำเติมผลกระทบให้รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะกระแสน้ำขึ้นลงจะไม่เป็นตามฤดูกาลอีกต่อไป ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลาและพื้นที่เกษตรริมโขง

“น้ำท่วมยามแล้ง น้ำแห้งหน้าฝน น้ำขึ้น 3 ครั้งไม่เต็มท่า แต่ก่อนน้ำขึ้นจะสูงเรื่อย ๆ ไปจนสูงสุด และค่อย ๆ ลดลงช้า ๆ ทำให้ 5 ปีมานี้พันธุ์ปลาหายไป เคยจับได้ทีละเป็นฝูง 10-20 กิโลกรัม ตอนนี้ติดแหติดมองไม่กี่ตัว” นางสอน กล่าว

นายอนันต์ ทวีสุข ชาวบ้านจากมุกดาหาร กล่าวว่า ผลกระทบจากเขื่อนใน สปป.ลาว ส่งผลถึงพื้นที่ จ.มุกดาหาร ระดับน้ำที่ลดลงอย่างผิดธรรมชาติ ทำให้เกิดสันดอนทรายโผล่เพิ่มขึ้นทุกวัน กระแสน้ำไหลแรงกว่าปกติ ชาวประมงไม่สามารถออกไปดักปลา อีกทั้งลำห้วยสาขาของน้ำโขงในฝั่งไทยถูกเขื่อนฝายปิดกั้นหมดแล้ว และหน้าฝนไม่มีน้ำพอที่จะเอ่อเข้าไปในลำน้ำสาขา ทำให้ปลาไม่สามารถเข้าไปวางไข่หรืออนุบาล

นายอำนาจ ไตรจักร ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดอีสาน กล่าวว่า ชาวบ้านทั้ง 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ทุกคนล้วนผูกพันกับแม่น้ำโขงมาตั้งแต่เด็กจนโต เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงมาโดยตลอด เมื่อเกิดผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เช่น กรณีเขื่อนจินหลินในจีน หรือเขื่อนไซยะบุรีใน สปป.ลาว ชาวบ้านรวมตัวกันต่อต้านเรื่องเขื่อน จึงรวมตัวเพื่อเก็บข้อมูลเป็นงานวิจัย แลกเปลี่ยนข้อมูลของแม่น้ำโขงในแต่ละจังหวัด ได้ผลสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ตนและกลุ่มจึงชุมนุมเรียกร้องเดินทางไปยื่นหนังสือตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฟ้องศาล แต่สุดท้ายศาลบอกว่าโครงการเหล่านั้นอยู่ในอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้าน อำนาจศาลของไทยไปไม่ถึง

นายชัยวัฒน์ พาระคุณ ชาวบ้านจากหนองคาย กล่าวว่า ภายหลังมีเขื่อนไซยะบุรี ระดับน้ำจะไม่เป็นไปตามฤดูกาล ทำให้ป่าไคร้บนสันดอนทรายถูกน้ำท่วมและลดลงอย่างรวดเร็ว ต้นไคร้ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โดยช่วงปี 2563-2566 จะเห็นซากต้นไคร้ตายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กระแสน้ำไหลแรงมากขึ้นจนกัดเซาะสันดอนทรายให้เหลือแต่โขดหิน ตั้งแต่การสร้างเขื่อนกั้นริมแม่น้ำโขง ตะกอนดินก็สูญหายไป สันดอนก็เปลี่ยนแปลง หาดทรายต่าง ๆ ที่เคยมีก็ไม่มี ปลาไม่มีที่วางไข่และอยู่อาศัย ผลกระทบไม่ได้มีแต่ระบบนิเวศ แต่กระทบชีวิตคนด้วย

นายชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มฮักเชียงคาน กล่าวว่า ปัจจุบันระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อวิถีชีวิตคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม สมัยก่อนช่วงฤดูแล้งที่เชียงคาน บริเวณโขดหินและหาดทรายเต็มไปด้วยป่าไคร้สีเขียว แต่ตอนนี้มีสภาพเหมือนทะเลทราย ต้นไคร้หายไป มีต้นไมยราบยักษ์เข้ามาแทนที่พันธุ์พืชดั้งเดิม ปัจจุบันเหลือพันธุ์ปลาอยู่ไม่กี่ชนิด จากเดิมที่มีพันธุ์ปลากว่าร้อยชนิด แต่ปัจจุบันมีไม่ถึง 50 ชนิด ชาวประมงเหลืออยู่ไม่ถึง 30 ราย ชาวบ้านเปลี่ยนจากประมงเป็นไกด์นำเที่ยว รับจ้างทำไร่ ทำสวน ทั้งนี้ ชาวบ้านพยายามปลูกต้นไคร้เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนสู่สภาพเหมือนเดิม พยายามทำทุกวิถีทางในการรักษาวิถีชีวิตของคนริมแม่น้ำโขงและระบบนิเวศไว้ให้นานที่สุด

นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า กสม. รับเรื่องร้องเรียนกรณีดังกล่าว และเห็นความสำคัญของการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศควบคู่กับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคามของ สปป.ลาว ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทย ประมาณ 2 กิโลเมตร ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีข้อกังวลต่อผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการดังกล่าว ทั้งเรื่องการกัดเซาะตลิ่ง เขตแดนและร่องน้ำธรรมชาติ การประกอบอาชีพประมง การขึ้นลงของน้ำอย่างรวดเร็ว ตะกอนแม่น้ำ รวมทั้งวิถีชีวิตของประชาชนที่พึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำโขงในการดำรงชีพ

กสม. มีหลักการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายประธาน โดยต้องไปดูให้ครบถ้วนถึงกระบวนการขั้นตอนของภาครัฐว่าเป็นอย่างไร และตรวจสอบตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน และหลักการของสหประชาชาติที่ชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน รวมถึงตรวจสอบโครงการลงทุนข้ามพรมแดน

กสม.จึงตรวจสอบตามคำร้องเรียน กรณีเขื่อนปากแแบงที่มีผลกระทบข้ามพรมแดน และการซื้อขายไฟจากเขื่อนลาวของประเทศไทยว่ามีความจำเป็นต้องสำรองพลังงานไฟฟ้าจำนวนมากหรือไม่ ดังนั้น จำเป็นต้องให้ข้อมูลรอบด้านต่อประชาชนเพื่อตัดสินใจ และให้เกิดข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ กสม.จะกำหนดให้มีการไต่สวนสาธารณะเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ รวมถึงเสนอให้ดำเนินการและทบทวนตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP)

นอกจากนี้ กสม. เน้นย้ำถึงสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เนื่องจาก กสม.ยังตรวจสอบถึงสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ ตรวจสอบสิทธิกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นและความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งการพัฒนาโครงการต้องอยู่ภายใต้หลักของธุรกิจและสิทธิมนุษยชน จึงมีความจำเป็นที่ประชาชนต้องได้รับการเข้าถึงข้อมูลทั้งในแง่ของเรื่องพลังงานและโครงการก่อสร้าง ต้องเป็นเรื่องที่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะให้รับทราบได้

ทั้งนี้ กสม. จึงมีแผนการไต่สวนสาธารณะ เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดตั้งโครงการ มีข้อถกเถียงและแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยเฉพาะเรื่องโครงการก่อสร้างเขื่อนและรับทราบถึงภาพรวมว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสำรองพลังงานมากเกินความต้องการหรือไม่ เนื่องจากการสำรองไฟก็ส่งผลให้ต้องซื้อไฟในราคาแพงด้วยเช่นกัน ถือเป็นข้อมูลที่คนไทยควรจะต้องได้รับรู้ถึงปัญหาและผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต

“ปลายเดือนเมษายนนี้จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสถึงผลกระทบข้ามพรมแดน จะเชิญสำนักงานทรัพยากรน้ำ ผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนในเขื่อน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลกับประชาชน รวมถึงกรณีเขื่อนปากชมและเขื่อนบ้านกุ่ม ที่สร้างบนพรมแดนไทยลาว หากกรอบการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนยังไม่เกิดขึ้นก็ยังไม่ควรสร้าง” นางศยามล กล่าว

Related Posts

Send this to a friend