POLITICS

โฆษก ก.แรงงานยันช่วยเหลือลูกจ้างไทรอัมพ์ครบถ้วนตามกฎหมาย

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงกรณีที่ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยออกมากล่าวหาว่า รัฐบาลล้มเหลว ปล่อยทุนต่างชาติเหยียบย่ำแรงงานไทย รัฐมนตรีแรงงาน ไร้น้ำยา บังคับใช้กฎหมาย ช่วยเหลือลูกจ้าง และบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างถูกลอยแพยังไม่ได้รับค่าชดเชย โดยจะรวมตัวชุมนุมที่ ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 11 มีนาคม 2565 นั้น ขอชี้แจงสรุปประเด็นการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ที่ได้รับผลกระทบจากนายจ้างปิดกิจการว่า

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามและสั่งการให้ดำเนินการช่วยเหลือดูแลลูกจ้างกลุ่มนี้มาโดยตลอดตามข้อห่วงใยและการกำชับของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่วันแรกที่มีการปิดกิจการเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 โดยอำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จัดหางานให้กับลูกจ้างที่ประสงค์ทำงาน และในวันที่ 23 มีนาคม 2564 พนักงานตรวจแรงงานสามารถออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้กับลูกจ้างจำนวน 242,689,862.71 บาท ดำเนินการจ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่ลูกจ้างจำนวน 32,973,275.44 บาท และแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย สูงสุด 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ลูกจ้างได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มอีก 10,504,431.44 บาท สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินกรณีว่างงาน เป็นเงิน 65,850,768 บาท ซึ่งการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างทางตัวแทนลูกจ้างได้เข้ามาขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ช่วยดำเนินการให้อย่างเต็มที่แล้ว

ด้านคดีความได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลแรงงานภาค 1 ซึ่งได้มีคำพิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวน 220,787,592.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี

ด้านคดีอาญาได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางเสาธง พนักงานสอบสวนได้ขอศาลจังหวัดสมุทรปราการออกหมายจับนายจ้างมีอายุความภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2569 ดำเนินการยื่นขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เนื่องจากศาลล้มละลายกลางได้มีคาสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงแรงงานได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565

นอกจากนี้ ได้มีหนังสืออายัดเงินฝากไปยังธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชีบริษัทฯ โดยธนาคารได้ส่งแคชเชียร์เช็ค 3 ฉบับ มูลค่า 91,475.29 บาท สั่งจ่ายคืนบัญชีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และมีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากรติดตามผลการอายัดทรัพย์สินรายบริษัท บริลเลียนฯ โดยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 กรมศุลกากรได้มอบเช็คเงินที่ยึดอายัดจากเงินอากรขาเข้าของบริษัท บริลเลียนฯ จำนวน 1,389,388.80 บาท

ทั้งนี้ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยได้เคยมายื่นหนังสือให้ทางกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและได้มีการประชุมหารือและชี้แจงโดยมีแกนนำที่เข้าร่วมประชุมได้แก่ นายเชีย จำปาทอง นางศรีไพร นนทรี นางสาวธนพร วิจันทร์ นางสาวสุธิลา ลืนคำ นางจิตร ณ วัชรี พะนัด นางสาวเตือนใจ แวงคำ และนางวาสนา คงหินตั้ง หลังจากการประชุมบรรดาแกนนำได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และข้าราชการกระทรวงแรงงานที่ได้เร่งรัดและให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท บริลเลียนฯ

สำหรับประเด็นที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ มากล่าวอ้างในภายหลังว่ากระทรวงแรงงานและรัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มนี้และยังขอให้ รัฐบาลนำเงินงบกลางจำนวน 242,689,862.71 บาท มาจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสาหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โบนัสและเบี้ยขยันให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนั้น ขอยืนยันว่ากระทรวงแรงงานดำเนินการตามขั้นตอนในกรอบของกฎหมายและช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว การนำเงินงบกลางมาจ่ายให้ลูกจ้างไม่สามารถกระทำได้เพราะเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ทั้งนี้ไม่มีประเทศใดปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว และยังได้ชี้แจงให้ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมได้รับทราบและเข้าใจแล้ว โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มลูกจ้างกรณีบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ในนามสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย รวมตัวกันเพื่อติดตามทวงถามความคืบหน้าการดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างได้รับผลกระทบจากนายจ้างปิดกิจการที่ทำเนียบรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเงินค่าชดเชยที่นอกเหนืออำนาจของรัฐบาลและ รมว.แรงงาน นั้น

ที่ผ่านมาในเรื่องนี้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้พยายามให้มีการเยียวยาตามกฎหมายซึ่งได้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบโดยเฉพาะกฎกระทรวงให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างให้ได้ค่าชดเชยกรณีว่างงาน ซึ่งขณะนั้นสำนักงานประกันสังคม ได้จ่ายเงินว่างงานกรณีลูกจ้างถูกเลิกจ้างไปแล้ว และลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวก็ได้ไปขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ รมว.แรงงาน ยังได้มีการผลักดันขับเคลื่อนการเพิ่มเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง ส่วนกรณีขอให้ดำเนินการหามาตรการป้องกันไม่ให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนแล้วหอบกระเป๋าหอบเงินหนีปล่อยลอยแพลูกจ้างเช่นนายจ้างรายนี้นั้น

ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างเพิ่มเติม โดยมีผู้แทนจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 3 คน และผู้แทนจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะทำงานต่อไป

“ในมุมมองผมมองว่าการเคลื่อนของไหวของกลุ่มลูกจ้างที่ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้เป็นลูกจ้างกลุ่มเดิม ๆ คนเดิม ๆ ที่เคยเรียกร้องกันมาหลายครั้ง ผมในฐานะประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เป็นผู้นำแรงงานที่เคยทำงานร่วมกับกลุ่มลูกจ้างมาหลายกลุ่ม ไม่เคยคิดที่จะให้ต้องออกมาเรียกร้องด้วยวิธีการเดิม ๆ แบบนี้ เพราะที่ผ่านมาก็ได้รับการเยียวยาไปแล้ว การออกมาเคลื่อนไหวในสถานการณ์แบบนี้ เชื่อว่าต้องมีกระบวนการนำพา เพราะมีเรื่องของค่าใช้จ่าย ค่ารถเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นผมมีวิธีการต่าง ๆ ที่ดีกว่านี้ในการตั้งคณะทำงานนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันดีกว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ” นายมนัส กล่าวในท้ายสุด

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นอีกผู้หนึ่งที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่ใช้วิธีการชุมนุมกดดันเรียกร้องในประเด็นไม่มีรัฐบาลไหนเขาทำกันโดยเฉพาะประเด็นที่ให้รัฐบาลนำเงินภาษีของประชาชนมาจ่ายค่าชดเชยแทนนายจ้าง ถ้าหากทำตามที่เรียกร้อง บ้านเมืองก็ไม่มีกฎเกณฑ์ นายจ้างที่เลิกกิจการก็จะพากันเบี้ยวทุกรายภาครัฐจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้ก่อน

“ผมคิดว่าการเตรียมมาชุมนุมในครั้งนี้ต้องแอบแฝงผลประโยชน์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และที่สังเกตดูที่ผ่านมาผู้มาชุมนุมมักเป็นมือปืนรับจ้างไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทบิลเลี่ยนฯ จริง ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างที่ตกงานเพราะถูกเลิกจ้าง การออกมาบิดเบือนข้อเท็จจริง ชี้นำผิดๆ ผมขอประณามการกระทำของแกนนำในครั้งนี้เพราะเป็นเรื่องที่ไม่หวังดีต่อผู้ใช้แรงงานจริง สำหรับผู้ที่ติดตามกรณีนี้มาจะทราบดีว่านายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ได้เร่งรัดการดำเนินงานทุกขั้นตอนและออกแนวทางใหม่ๆ มาช่วยเยียวยาดูแลลูกจ้าง ”

Related Posts

Send this to a friend