POLITICS

‘ศุภณัฐ’ ตั้งกระทู้ถาม ‘คมนาคม’ ตัวเลขสายรถเมล์สร้างความสับสน จะยกเลิกหรือใช้แบบเดิม

‘ศุภณัฐ’ ตั้งกระทู้ถาม กระทรวงคมนาคม แก้ปัญหาตัวเลขสายรถเมล์สร้างความสับสน จะยกเลิกหรือใช้แบบเดิม ด้าน รมช.คมนาคม ตอบ ขอเวลาศึกษาเพิ่มเติม ย้ำ รัฐบาลฟังทุกความเห็นต่าง พร้อมปรับปรุงแก้ไข

วันนี้ (8 ก.พ. 67) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 เป็นประธานที่ประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของ นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ซึ่งตั้งกระทู้ถาม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยนายสุริยะได้มอบหมายให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ตอบ

นายศุภณัฐ อภิปรายว่า รถเมล์ คือระบบขนส่งสาธารณะที่สำคัญ เนื่องจากมีต้นทุนต่ำที่สุด ให้คนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ง่ายที่สุด แต่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอ จนเกิดปัญหาจำนวนมาก และหลังจากเกิดการปฏิรูปรถเมล์แล้ว ปัญหาที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือเลขสาย เนื่องจากกรมขนส่งทางบกปรับเลขสายรถรถเมล์แบบใหม่ x – xx ซึ่งที่มาคือการคิดขึ้นมาเอง โดยแบ่งกรุงเทพเป็น 4 โซน เลขหน้าเป็นเลขโซน โดยเส้นทางบางช่วงอย่าง วิภาวดี หมายเลขเดิมคือ 29 แต่สายใหม่คือ 1-1 จึงเกิดคำถามว่าโซนทิศเหนือคือหัวลำโพงหรือไม่ และรถเมล์ไม่ได้แบ่งโซนแบบนี้ เลขสายใหม่ทำให้คนจำไม่ได้ ผู้สูงอายุก็สับสน แม้กรมขนส่งทางบกเคยทำประชาพิจารณ์แล้วเรื่องเลขสายใหม่ แต่ไม่ผ่าน ก็ยังดื้อไม่ฟังจะเปลี่ยน โดยไม่สนใจเสียงของประชาชนจึงเข้าคอนเซ็ปท์ ”คนคิดไม่ได้นั่งคนนั่งไม่ได้คิด”

นายศุภณัฐ ระบุว่า สัปดาห์ที่แล้ว มีออกข่าวว่ารัฐมนตรีคมนาคมแก้ปัญหาสายรถเมล์แล้ว โดยเอาขีดกลางออก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเลขก็จะไปซ้ำกับของเก่า ยิ่งทำให้ประชาชนงงกว่าเดิม การแก้ไขปัญหาแบบนี้ สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารในกระทรวงคมนาคมไม่เคยนั่งรถเมล์ และไม่เคยสอบถามประชาชน ยิ่งแก้ยิ่งสับสน ย้ำว่าไม่มีประโยชน์ จึงขอถามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในฐานะคนที่กำกับโดยตรง ทราบหรือไม่ว่าเลขสายใหม่ที่กรมคิดขึ้นมา ประชาชนไม่เอา และไม่ตอบโจทย์ รวมถึงจะยกเลิกแบบใหม่ กลับไปใช้แบบดั้งเดิมหรือไม่

นายสุรพงษ์ ตอบว่า ปี 58 มีการศึกษาปัญหาของ ขสมก. ที่มีการขาดทุนสะสมจึงตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมา โดยมีมติให้ยกเลิกมติ ครม. ที่ให้ ขสมก. เป็นเจ้าเดียวในการเดินรถ นำไปสู่การปฏิรูป โดยกำหนดเส้นทางขึ้นมาใหม่ ให้ ขสมก. กับ รถร่วม เลือกเส้นทางวิ่ง ที่เหลือให้คนใหม่เข้ามาดำเนินการ

สำหรับที่มาของเส้นทางที่มีขีดการแบ่งโซน คณะศึกษาให้เหตุผลว่า แต่ละโซนเริ่มต้นวิ่งไปที่ไหน จะกลับไปที่โซนเดิม ส่วนเรื่องของความงง หรือความสับสนของพี่น้องประชาชนถึงตัวเลขรหัสในการเดินรถ ทางรัฐบาลเข้ามาทีหลัง แต่ก็พยายามศึกษา และหาแนวทางแก้ไข ถ้าวันนี้ประชาชนต้องการรูปแบบเป็นอย่างไร เดี๋ยวคงมีคณะกรรมการขนส่งกลาง ที่ตนเองได้มอบหมายไปได้ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์แล้ว ให้ไปดูความเป็นมา ซึ่งตอนนี้ยังไม่แน่ใจการเปลี่ยนกลับไปกลับมา จะเป็นผลดีหรือไม่ หรือแบบเดิมแล้วพยายามทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจในหลักการ โดยที่ผ่านมาการประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบการเพียงพอหรือไม่ ที่จะให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ จะขอรับปัญหาจากสมาชิก ไปศึกษาอีกสักพักว่าวิธีการที่เหมาะสมจะเดินต่อหรือจะเปลี่ยน คาดว่าไม่เกิน 90 วันคงจะได้คำตอบที่ชัดเจนว่า เราประชาสัมพันธ์เพียงพอแล้วหรือไม่ การที่ประชาชนไม่เข้าใจมีกี่เปอร์เซ็นต์ และจะสามารถทำให้เข้าใจได้โดยวิธีการเปลี่ยน หรือการทำเข้าใจ

ด้านนายศุภณัฐ ระบุว่า โซนที่สองที่เป็นสีเขียวเป็นโซนตะวันตก แต่ตามแผนภาพที่นำมาแสดงอยู่ขวามือของกรุงเทพมหานคร จะเป็นทิศตะวันตกได้อย่างไร เขาเขียนผิดกันมาหลายปีแล้ว โดยกรมขนส่งทางบก ยังไม่แก้ ซึ่งแท้จริงมันคือทิศเหนือ ส่วนเรื่องรถเมล์ก็ไปแล้วกลับอยู่แล้ว ดังนั้น ตัวเลขจึงไม่มีประโยชน์ ส่วนบางเส้นทางที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หากเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยสามารถใช้เลขเดิมได้ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงมาก ค่อยกำหนดเส้นทางตัวเลขใหม่ ส่วนเรื่องการประชาสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องของผู้ประกอบการ แต่คมนาคมเป็นคนเข้าไปช่วยเหลือเอง จึงอยากฝากให้ร่วมกันช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

นายศุภณัฐ กล่าวต่อว่า แม้จะมีการปฏิรูปรถเมล์ในรัฐบาลที่แล้ว แต่วิ่งได้จริงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ปฏิรูป โดยในบางพื้นที่มีรถมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัด ยังคงไม่มีการขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ มีการตรวจสอบจำนวนเที่ยวรถมีหรือไม่ เพราะในบางพื้นที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทุกวันนี้รัฐบาลเงินอุดหนุนแต่รถไฟฟ้า รวมถึงบอร์ด ขสมก. โดนดองไว้มานาน ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ ขอให้รัฐบาลช่วยผลักดัน จึงอยากถามว่ารัฐมนตรีจะแก้ไขรถเมล์ขาดแคลนวิ่งไม่ครบรอบอย่างไร และส่วนที่ยังไม่มีรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่ไม่มีรถเมล์จะมีแนวทางทำให้เกิดรถเมล์อย่างไร รวมถึงอยากประกาศให้เป็นของขวัญประชาชนภายในปี 2567 จะมีจังหวัดไหนบ้างที่อยู่ในแผนของรัฐบาลที่จะผลักดันให้เกิดรถเมล์เพิ่ม

นายสุรพงษ์ ย้ำว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญทั้งระบบแบบบูรณาการ รถเมล์จะเป็นพระเอกในกรุงเทพฯ เพราะจะเป็นรถอีวี รวมถึงการจัดเส้นทางด้วย ปัจจุบันมีระบบรางกว่า 4,000 กิโลเมตร วิ่งผ่าน 41 จังหวัด หากระบบทางคู่ และระบบความเร็วสูงเสร็จ จะมีรถไฟวิ่งผ่านกว้าง 61 จังหวัดทั่วประเทศ จะทำให้การบูรณาการร่วมกันดีขึ้น น่าจะมีรถหายไปจากท้องถนนหลายพันคัน จะมีถนนในการวิ่งรถเมล์ที่ชัดเจน ส่วนเส้นทางการวิ่งก็ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

“รัฐบาลกำลังนำปัญหาเก่า ๆ มาปัด และนำมาเชื่อมต่อ เชื่อมโยงให้บูรณาการเชื่อมกัน เดี๋ยวจะเห็นการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งของประเทศไทย โดยเฉพาะขนส่งสาธารณะขนส่งมวลชน” นายสุรพงษ์ กล่าว

ส่วนจังหวัดไหนที่จะมีการส่งเสริมเรื่องระบบสาธารณะ นายสุรพงษ์ ระบุว่า ทางขนส่งได้แก้ไขกฎกระทรวง กระจายอำนาจไปให้ท้องถิ่นเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่ง รวมกับ ขสมก. ได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของท้องถิ่นนั้น ๆ ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบสาธารณะเท่าเทียมกัน เราได้วางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวตลอด และเรื่องหมายเลขไม่ได้นิ่งนอนใจ เราพร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกด้าน อะไรที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับพี่น้องประชาชนก็จะนำไปปฏิบัติ

นายศุภณัฐ ย้ำว่า จะต้องมีการอุดหนุนระบบรถเมล์ และมีการทำระบบตั๋วร่วม เพื่อให้สามารถใช้ร่วมกันได้ และจะมีการจัดการระบบตั๋วร่วมอย่างไร รวมถึงค่าโดยสารราคาสูงสุดกี่บาท พร้อมฝากให้ดูแลเรื่องรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินด้วย

ด้านนายสุรพงษ์ ตอบว่า พ.ร.บ. ตั๋วร่วม จะเข้าสู่ ครม. ภายในเดือนนี้ โดยจะทำร่างเข้าสู่การพิจารณาภายในสภาต่อไป ส่วนรายละเอียดจะต้องดูกันที่ชั้นกรรมาธิการ ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร และการบูรณาการร่วมของระบบขนส่ง เราให้ความสำคัญ

Related Posts

Send this to a friend