ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ สั่งยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ สั่งยุบพรรคก้าวไกล พร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 10 ปี
วันนี้ (7 ส.ค. 67) ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่น่าสนใจ คณะกรรมการ การเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล (เรื่องพิจารณาที่ 10/2567)
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรรมญที่ 3/2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และห้ามมีให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง
ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาหารือร่วมกันแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ และอำนาจในการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายและร่างกฎหมาย พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา 210 วรรคสาม ให้นำความตามมาตรา 188 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์มาใช้บังคับแก่ศาลรัฐธรรมนูญด้วย โดยอนุโลม ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (13) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีอื่นที่รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น กำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมือง ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งยุบพรรคการเมืองได้
การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่หนึ่ง คณะกรรมการการเลือกตั้งมี “หลักฐานอันควรเชื่อได้” ว่าพรรคการเมืองใดได้กระทำการที่เข้าลักษณะตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) และกรณีที่สอง “เมื่อปรากฏ” ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง พ.ศ. 2566 จึงเป็นกรณีที่กฎหมายวางกฎเกณฑ์ของผู้เริ่มกระบวนการ และลักษณะของข้อเท็จจริงไว้แตกต่างกัน ดังนั้น หากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองมีการกระทำที่เข้าลักษณะที่กฎหมายบัญญัติ คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
คดีนี้กับคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 เป็นคดีรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน และมูลคดีเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไต่สวนพยานหลักฐานในมาตรฐานเดียวกัน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่ บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” ข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมต้องผูกพันศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ด้วย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่าพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันมีเนื้อหาเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งโดยการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง เป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิบไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด การกระทำของผู้ถูกร้องจึงเข้าลักษณะการกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกด้วย
เมื่อพรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย
การยุบพรรคการเมืองต้องเคร่งครัด ระมัดระวังให้ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ความรุนแรงของพรรคการเมือง ผู้ถูกร้องมีการกระทำอันฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ซึ่งเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง กฎหมายดังกล่าวใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าพรรคการเมืองนั้น จะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับเดียวกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน หากมีพฤติการณ์ร้ายแรงกฎหมายจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้งการทำลายหลักการพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้นักวิชาการ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศไม่ว่าในระดับใดต่างก็มีรัฐธรรมนูญ และกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศการแสดงความเห็นใด ๆ ย่อมต้องมีมารยาทสากลทางการทูตและการต่างประเทศที่พึ่งปฏิบัติต่อกัน
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) และวรรคสอง แล้ว ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง มีกำหนดเวลาสิบปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง สอดคล้องกับระยะเวลาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 94 วรรคสอง
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องแล้ว จึงต้องสั่งให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งดังดังกล่าวอยู่ในระหว่างวันที่ ๒๕ มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันที่ศาลรธรรมนูญมีกำลังยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 94 วรรคสอง
ผลการลงมติ ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง มีเหตุสมควรยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง
และมีมติโดยเสียงข้างมาก (8 ต่อ 1) วินิจฉัยให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) และวรรรคสอง (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์)
ประเด็นที่สอง คณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง หรือไม่ เพียงใด
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 92 วรรคสอง มีกำหนดเวลาสิบปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง
ประเด็นที่สาม ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคผู้ถูกร้องที่ถูกยุบ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในกำหนดสิบปี นับแต่วันที่พรรคผู้ถูกร้องถูกยุบตามพระระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 94 วรรคสอง หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคผู้ถูกร้องไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา 94 วรรคสอง