POLITICS

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ยุบ “พรรคก้าวไกล“ เพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง กก.บห.พรรค 10 ปี

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ยุบพรรคก้าวไกล ฐานล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง กรรมการบริหารพรรคตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.64 -31 ม.ค.67 เป็นช่วงเวลาที่กระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค เป็นเวลา 10 ปี และกรรมการบริหารพรรค ห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองฯ ขึ้นใหม่ภายใน 10 ปีด้วย

วันนี้ (7 ส.ค.67) เวลา 15.00 น.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อให้มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง

เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยโดยสังเขป อ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 โดยระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการค้นหาความจริงตามคำวินิจฉัยคดีที่ 3/2567 ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้นตามมาตรฐานการพิสูจน์ขั้นสูงสุดแล้ว ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา และผลคำวินิจฉัยคดีดังกล่าวจึงรับฟังในคดีนี้ได้ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานหลักฐานใหม่

แม้ กกต.ไม่ได้ดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานหรือให้โอกาสผู้ถูกร้องรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ แต่คดีนี้และคดีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลเดียวกัน การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคดีตามคำวินิจฉัยคดีที่ 3/2567 เปิดไต่สวนพยานหลักฐาน จึงถือเป็นกระบวนการไต่สวนที่ให้ความเป็นธรรม ข้อต่อแย้งของผู้ถูกร้องจึงไม่อาจรับฟังได้

การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดผู้ถูกร้องเพียงพรรคเดียว ใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้อง ถือได้ว่าผู้ถูกร้องร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว รณรงค์แสดงความคิดเห็นทางการเมืองบนเวทีปราศรัย แม้จะไม่ได้ทำโดยกรรมการบริหารพรรค แต่กรรมการบริหารพรรคต้องมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำมุ่งหวังผลักดันให้นโยบายของผู้ถูกร้องสำเร็จตามความมุ่งหมาย ถือเป็นการกระทำความผิดโดยอ้อมโดยใช้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนหรือเครื่องมือในการกระทำผิด

อีกทั้งพรรคผู้ถูกร้องได้ลงนามในการจัดตั้งรัฐบาลพร้อมให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองสอดคล้องกับกลุ่มการเมือง เป็นการรณรงค์ปลุกเร้า ยุยงปลุกปั่น เพื่อสร้างกระแสสังคม สนับสนุนยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นำมาซึ่งความแตกแยกซึ่งคนในชาติ มีลักษณะยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ส่งผลให้คุณค่าของรัฐธรรมนูญที่รองรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องถูกล้มเลิกและสูญเสียไป ผู้ถูกร้องไม่อาจหลีกเลี่ยงการรับผิดได้ ดังนั้นข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องจึงไม่อาจรับฟังได้

การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ประมุข เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันของพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองของประชาชนที่มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองจึงต้องเคร่งครัดระมัดระวังให้ได้สัดส่วนกับพฤติกรรมความรุนแรง การยุบพรรคการเมืองต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและขึ้นอยู่กับการกระทำของพรรคการเมืองนั้น

ผู้ถูกร้องมีการกระทำฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง ซึ่งกฎหมายดังกล่าวใช้กับพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม และทุกพรรคต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม อันเป็นพฤติการณ์ ข้อกฎหมายและจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้งการทำลายพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์สั่งยุบพรรคก้าวไกล พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ระหว่างวันที่ 25 มี.ค.64-31 ม.ค.67 นับกำหนดเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค

สำหรับรายชื่อกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล 10 คน มีรายชื่อดังนี้

1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค

2.นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค

3.นางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค

4.นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค

5.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ

6.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคใต้

7.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคกลาง

8.นายอภิชาต ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

9.นางสาวเบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออก

10.นายสุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนปีกแรงงาน

Related Posts

Send this to a friend