POLITICS

ยุติธรรม ยันร่างกฎหมาย JSOC ยึดตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ยุติธรรม ยันร่างกฎหมาย JSOC ไม่ได้เร่งทำผิดปกติ ยึดตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่แตกต่างจากของประเทศอื่น ชี้ต้องการให้สังคมปลอดภัยจากพวกทำผิดซ้ำ

น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ว่าปัญหาการกระทำความผิดซ้ำของผู้พ้นโทษที่กลับมาก่อเหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญหรือคดีอุกฉกรรจ์ได้มีการกระทำความผิดในคดีที่รุนแรงขึ้น และมีการกระทำผิดซ้ำซากติดเป็นนิสัย ที่ผ่านมามีคดีที่ประชาชนให้ความสนใจและสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคมเป็นอย่างมาก แม้จะไม่ใช่เป็นการก่อเหตุซ้ำในคดีแรกแต่เมื่อเกิดขึ้นก็ย่อมมีความเสียหายต่อเหยื่อตามมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่เกี่ยวกับการฆาตกรรมโดยเจตนา การฆาตกรรมต่อเนื่อง การทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การข่มขืนกระทำชำเรา การพรากเด็กหรือผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร เช่น กรณีของนายสมคิด พุ่มพวง และไอซ์ หีบเหล็ก กระทรวงยุติธรรมได้มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางที่ต้องให้ได้รับการคุ้มครองและปลอดภัยจากปัญหาอาชญากรรม รวมถึงเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เคารพสิทธิมนุษยชน มีการปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเสมอภาค มีความเป็นกลาง จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง

น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะนำไปใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดโดยทั่วไป แต่มีจุดมุ่งหมายที่จะไปใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดที่มีภาวะทางกายและจิตที่ไม่ปกติ และจากการที่ผู้กระทำความผิดได้รับโทษจำคุกแล้ว โดยโทษจำคุกนั้นจะมีระยะเวลานานเท่าใด ก็ไม่อาจที่จะเป็นหลักประกันได้ว่าเมื่อผู้กระทำความผิดพ้นโทษจากเรือนจำแล้ว จะไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นการพ้นโทษตามคำพิพากษาก็ตาม

ทั้งนี้ เนื่องจากว่าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับการแก้ไขฟื้นฟู บำบัดรักษาอาการภาวะความบกพร่องทางกายหรือทางจิต ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ผู้กระทำความผิดเหล่านั้นอาจจะหวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายฉบับใดที่จะสามารถเข้าไปจัดการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดได้เหมือนกฎหมายฉบับนี้ และหากไม่มีมาตรการเช่นว่านี้ นั้นหมายความว่าอาจจะไม่มีความปลอดภัยสำหรับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้หญิง และเด็ก ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงจากบุคคลประเภทนี้อยู่

“กฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้มีความผิดแปลกไปจากกฎหมายของประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่มีสิทธิมนุษยชน เนื่องจากในนานาอารยประเทศก็มีกฎหมายลักษณะเช่นนี้อยู่เป็นระยะเวลานานแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นมาตรการการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษเพื่อป้องกันสังคมที่ไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ตามมาตรฐานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นมาตรการสุดท้าย ด้วยระยะเวลาที่จำเป็น มีการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกคุมขังอย่างเหมาะสมที่มีการตรวจสอบการคุมขังโดยศาล และให้สิทธิในการมีทนายความ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายลักษณะนี้ และการที่เราเร่งจัดทำให้เสร็จโดยเร็วก็เพื่อความปลอดภัยของสังคม โดยเฉพาะเด็กและสตรี ไม่ได้ผิดปกติอะไรอย่างที่บางคนสงสัย เราตั้งใจทำเพื่อประชาชนจริงๆ” น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend