POLITICS

‘จาตุรนต์’ เสนอสภาฯ จ่อตั้งคณะ กมธ. ติดตามงาน เจรจา-ปรับแก้กฎหมาย เพื่อสร้างสันติภาพ

‘จาตุรนต์’ เสนอสภาฯ จ่อตั้งคณะ กมธ. ติดตามงาน เจรจา-ปรับแก้กฎหมาย เพื่อสร้างสันติภาพ คาดหวังกมธ. ชุดนี้จะสามารถร่างเป็นข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และเสนอต่อไปยังรัฐบาลได้

วันนี้ (6 ธ.ค. 66) นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ศึกษาติดตาม และส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้และปาตานี แถลงข่าวกับสื่อมวลชน ณ อาคารรัฐสภา เกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะ กมธ.วิสามัญ ศึกษาติดตาม และส่งเสริมการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้และปาตานี

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า หลังมีการประชุมของคณะ กมธ. วิสามัญ มาแล้ว 7 ครั้ง วันนี้ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติภายใต้หัวข้อ “การสร้างความเข้าใจรากเหง้าความขัดแย้ง และกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ และปาตานี” เพื่อให้คณะ กมธ. คณะอนุ กมธ. และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้รับฟังจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญ ให้มีข้อคิดเห็นและความเข้าใจในสภาพปัญหาที่ตรงกัน

หลังจากที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ทำงานมาระยะหนึ่ง มีประเด็นสำคัญที่กำลังพิจารณาศึกษา ถึงบทบาทของรัฐสภาต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ที่มองว่าควรจะมีคณะกรรมการของสภาฯ และควรจะมีกฎหมายที่เอื้อต่อการพูดคุยสันติภาพ และทำให้การพูดคุยสันติภาพสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ เนื่องจากเป็นประเด็นที่ยากและไม่ได้มีการพูดคุยกันในวงกว้าง อาทิ บทบาทของรัฐสภาต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ การบัญญัติ แก้ไข และบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพโดยรวมโดยปรับการทำงานของฝ่ายบริหาร เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นเอกภาพและมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ทำงานเต็มเวลา เพราะ กมธ.เห็นปัญหาถึงที่ยังไม่เป็นเอกภาพ ยังไม่มีความชัดเจนในการจัดระบบการทำงาน และคงต้องศึกษาต่อไปว่าระบบการทำงานที่จะเป็นประโยชน์ควรจะเป็นอย่างไร

รวมทั้งขจัดอุปสรรคต่อการเดินหน้าคุยสันติภาพที่ปราศจากความหวาดกลัว และนำขึ้นสู่ความเป็นสากล เพราะเห็นว่ายังมีอุปสรรคในเรื่องนี้ และมีความเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งเราคงแลกเปลี่ยนกับคณะนี้ และเห็นว่าควรจะมีองค์กรหรือคณะกรรมาธิการเฉพาะในสภาฯ ที่จะช่วยส่งเสริมผลักดัน ติดตามการทำงานการพูดคุยเรื่องสันติภาพเป็นการเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติจะจำกัด แม้แต่การรับรู้ความคืบหน้าต่างๆ ก็มีน้อย

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า กมธ. ชุดนี้จะร่างเป็นข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป คาดว่ากลางเดือน ม.ค. 67 น่าจะมีข้อสรุปบางส่วนออกมา รวมถึงข้อสรุปในข้อบัญญัติและการแก้ไขกฎหมายที่เอื้อต่อการสร้างสันติภาพโดยรวม ซึ่งมีข้อเสนอเรื่องการออกกฎหมายใหม่ การแก้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ รวมทั้งการทบทวนการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ ทั้งกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพ และการอยู่ร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ อย่างมีสันติสุข

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า ยังต้องศึกษาถึงเรื่องการปรับงบประมาณที่เกี่ยวกับการพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ เพื่อเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและแสวงหาทางออกทางการเมือง

สำหรับกรอบการทำงานของ กมธ.นั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า สภาฯ มอบหมายให้ทำงาน 90 วันแต่จากที่ฟังจากผู้เชี่ยวชาญ มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องขยายเวลา และจากนี้จะทำงานใน 2 ส่วนคือ ตั้งหัวข้อในการศึกษาพิจารณาที่ชัดเจน และจะมีการ รับฟังลงพื้นที่ โดยต้นเดือน ม.ค.นี้ จะลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2-3 ครั้ง และให้อนุกมธ. ไปรับฟังความคิดเห็น คาดว่าจะทยอยมีข้อสรุป ที่เป็นข้อเสนอในประเด็นใหญ่ๆ ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมทีมงานร่างข้อเสนอ

ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้ยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า กมธ. เห็นว่าเป็นปัญหาความลักลั่น และไม่เป็นเอกภาพหรือไม่มีระบบประสานงาน จึงเป็นประเด็นที่ กมธ. จะต้องดูว่าองค์กรที่เหมาะสมในการรับผิดชอบแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ควรจะเป็นอย่างไร

ส่วนคณะกรรมธิการฯ จะมีการพูดคุยถึงประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน อย่างความเห็นเรื่องการกระจายอำนาจ หรือรูปแบบการบริหารปกครองพิเศษ หรือไม่นั้น นายจาตุรนต์ยืนยันว่า จะต้องมีการพูดคุยแน่นอน เรื่องเหล่านี้ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ได้ข้อสรุป ซึ่งเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อทั้งประเทศ พร้อมย้ำว่า การกระจายอำนาจของทั้งประเทศขณะนี้มีสถานะถอยหลัง ส่วนรูปแบบการปกครองพิเศษ ต้องยอมรับว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างจาก กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ดังนั้น ต้องหาสมดุลที่ควรมีการกระจายอำนาจมากขึ้น เหมือนหลายจังหวัดที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว ซึ่งการกระจายอำนาจพิเศษเป็นเรื่องที่จะต้องมีการศึกษาจากประเทศต่างๆ โดยที่สังคมควรจะต้องรับรู้ปัญหาความขัดแย้งกระบวนการสร้างสันติภาพ จึงต้องมีการดำเนินการในหลายเรื่อง การจะออกกฎหมาย เพื่อระงับการดำเนินคดีหรือนิรโทษกรรม ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แต่ก็ต้องคิดหากฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น เรื่องกระบวนการยุติธรรมในระยะประเด็นทางที่เหมาะสมกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

Related Posts

Send this to a friend