‘เศรษฐา’ พร้อมหารือ ก.คลัง ออกสลากเพื่อความเสมอภาค
สนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ผลักดันให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาเป็นศูนย์ Zero Droupout หลังจาก กสศ.ทำงานมา 5 ปี ช่วยเด็กไม่ให้หลุดออกนอกระบบได้กว่า 3.5 ล้านคน
วันนี้ (6 ก.ย. 66) ที่ทำการพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย น.สซลินณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม คณะทำงานนโยบายด้านการศึกษาพรรคเพื่อไทย หารือร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำโดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานบอร์ด กสศ. และดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. และกรรมการบอร์ด กสศ. ในฐานะหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ดร.ประสาร ระบุว่า เรื่องของการศึกษา เนื่องจากทรัพยากรที่ทาง กสศ. ได้มาอย่างจำกัด จึงมุ่งเน้นไปที่การศึกษาของเด็กกลุ่มยากจนที่สุด 15% และสิ่งที่พยายายามทำคือการทำงานร่วมกับคนอื่น รวมถึงช่วยในเรื่องการจัดทำข้อมูล ทำให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้ ดูผลลัพธ์การเรียนรู้ เข้าถึงการศึกษาทางเลือก และมีเป้าหมายเพื่อจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ซึ่งจากการวิจัยของเราก็จะพบว่าเด็กที่มีการศึกษาสูงกว่าจะมีรายได้มากกว่า
“ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เราช่วยเด็ก 3.5 ล้านคนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา เราเข้าไปเสริมในส่วนที่ขาด มีเยาวชนทั้งในและนอกระบบ เราร่วมมือทำหลักสูตรของอาชีวะ ให้ตรงตามความต้องการของเขา รวมถึงการพัฒนาโรงเรียน ในพื้นที่ห่างไกล ทั้งเรื่องเครื่องมือ ก็ทำให้ดีขึ้น การสร้างครูให้ไปบรรจุในพื้นที่ห่างไกล”
ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า แม้ขณะนี้ทาง กสศ.จะถูกตัดงบประมาณลงไป แต่ก็จะทำเต็มที่ สุดความสามารถ จะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ และหาช่องทางการระดมทุนจากที่อื่น อย่างเช่น การรับบริจาค รวมถึงอยากฝากข้อเสนอให้พิจารณาเรื่องการทำสลากเพื่อความเสมอภาค ความคืบหน้าโครงการ Zero Dropout
ดร.ประสาร กล่าวต่อว่า เรายังทำเรื่องอาชีพ ที่อาจมองว่ามีรายได้ อย่างผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งยังขาดคนจำนวนมาก และใช้เวลาในการศึกษาไม่นาน เพื่อทำให้มีกำลังคนเพียงพอ เราก็สนับสนุนในส่วนนี้ด้วย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เป็นโอกาสดีที่พรรคเพื่อไทยได้พูดคุยกับ กสศ. โดยมีคณะทำงานด้านการศึกษาโดยตรงมาร่วมรับฟัง โดยมองว่าความยากจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ มาตรการทางการเงินจะเป็นส่วนหนึ่งในการนำมาซึ่งความเท่าเทียม และที่ผ่านมามีการด้อยค่าการศึกษา จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันเสนอทางออก ซึ่งเมื่อครั้งที่ยังทำงานอยู่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา ด้วยการออกหุ้นกู้ระดมทุน 100 ล้านบาท ใช้ในโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ สนับสนุนการศึกษาเด็ก ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งหวังว่าจะมีบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพ เริ่มต้นดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ในระหว่างการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ กสศ.นั้น นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับคณะทำงาน เพื่อพิจารณารายละเอียดความเป็นไปได้ ในการที่รัฐบาลจะออกสลากเพื่อการกุศล (สลากเพื่อความเสมอภาค) เพื่อระดมทุนสนับสนุนการศึกษาของไทยด้วย โดยจะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง (สคร.) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เร็วๆนี้
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า เห็นด้วยทั้งหมดกับนโยบายที่ กสศ.พยายามทำ วันนี้ในอีกสถานะหนึ่ง อาจช่วยได้มากขึ้น เรื่องของสลากการกุศล หรือการบริจาค ขอรับไปพิจารณาดำเนินการ หากทำการระดมทุนได้มาก มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มศักยภาพ กสศ.มากขึ้น ส่วนเรื่องมาตรการด้านภาษี เมื่อมีผู้บริจาคเงินเข้า กสศ.สามารถดำเนินการต่อได้ทันที โดยหลังจากแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาในวันที่ 11 กันยายน 2566 จะสามารถสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที ยืนยันสิ่งใดที่สามารถทำได้รวดเร็ว จะทำทันที ขณะเดียวกัน ต้องเข้าไปศึกษาในรายละเอียดของงบประมาณว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่ยืนยันว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ยืนยันจะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในฐานะควบคุมกำกับดูแล กสศ. อย่างเต็มที่
สำหรับ กสศ.เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 การบริหารงานเป็นอิสระ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับและดูแล คณะกรรมการบริการ กสศ.กำหนดนโยบายเป้าหมายและแนวทางดำเนินงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้อยโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา