‘สมชัย’ ชี้ แก้รัฐธรรมนูญ ม.272 คือทางออกประเทศ
วันนี้ (6 ก.ย. 65) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ในนามคณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 272 ร่วมกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 64,151 คน ได้ชี้แจงว่าประเด็นที่ขอแก้ไขมีเพียงมาตรา 272 โดยขอให้แก้ไขใน 2 ประเด็นคือ การยกเลิกอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และคงกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกเช่นเดิม โดยใช้เสียงของ ส.ส.และ ส.ว.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เสนอให้รัฐสภามีมติยกเว้นใช้ชื่อในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ จากนั้นที่ประชุมรัฐสภาต้องมีมติ 2 ใน 3 ให้ยกเว้นการใช้ชื่อในบัญชี ในขั้นสุดท้ายให้มาเลือกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นทางออกของประเทศไทย ให้ ส.ว.คงความเป็นกลางทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 113 ที่ระบุไว้ว่า ส.ว.ต้องไม่ฝักใฝ่ หรือยอมอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมืองใด การจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง จะเป็นธรรมชาติ ไม่อยู่ภายใต้การพิจารณาของ ส.ว.ซึ่งจะนำประเทศไปสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสากล
ส่วนข้อโต้แย้งที่ระบุว่า การให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายก รัฐมนตรีเป็นไปตามการออกเสียงประชามติ เมื่อ 7 สิงหาคม 2559 หากจะแก้ร่างรัฐธรรมนูญต้องกลับไปทำประชามติ หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256(8) ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 กรณี คือ การแก้หมวด 1 หมวด 2 แก้อำนาจศาลและองค์กรอิสระ ดังนั้นการแก้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี จึงไม่จำเป็นต้องทำประชามติ
ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. เป็นการเลือกเพียง 5 ปีแรกของรัฐสภาชุดปัจจุบัน นายสมชัย กล่าวว่า ทุกปีมีความหมาย เร็วขึ้นก็จะมีประโยชน์ เท่ากับคืนประเทศสู่ประชาธิปไตย การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นไปด้วยความสง่างาม
กรณีการให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ และการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สรุปแล้วว่า ผลงานสำเร็จแล้ว การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปจึงไม่จำเป็นต้องเป็นประโยชน์ตามยุทธศาสตร์ชาติ
ทั้งนี้การให้สภาผู้แทนราษฎร เลือกนายกรัฐมนตรี อาจได้บุคคลจากฝ่ายการเมืองที่จะนำประเทศสู่ความขัดแย้ง ถือเป็นเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรต้องตัดสิน ซึ่งมีกลไกควบคุมตรวจสอบอยู่แล้ว เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นายสมชัย กล่าวอีกว่า การลงมติเห็นชอบ และไม่เห็นชอบ เป็นการแสดงจุดยืนทางการเมือง การงดออกเสียงแสดงถึงความไม่เป็นกลาง เป็นการไม่ประสงค์จะให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านขั้นรับหลักการ
“การลงมติของรัฐสภาเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศชาติ ประเทศจะเดินต่อไปอย่างไร ขึ้นอยู่กับการลงมติของท่านในรัฐสภา ไม่ว่าจะลงมติรับ หรือไม่รับก็ไม่มีใครต่อว่าต่อขาน เพราะทุกคนมีเหตุผล ประชาชน 7 หมื่นชื่อที่เข้าชื่อ อยากให้รัฐสภาเป็นความหวังของการเปลี่ยนแปลง”