POLITICS

อ่วม เงินเฟ้อเดือน พ.ค.พุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี เหตุ น้ำมัน-อาหาร-ขนส่ง แพงขึ้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 106.62 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.10% โดยเป็นการสูงขึ้นในรอบ 13 ปี แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่เงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 5.19%

สำหรับปัจจัยหลักที่กระทบเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 คือ ราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้ากลุ่มพลังงาน ทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก การยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้มทำให้ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)

นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ จึงมีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้อยู่ที่ 7.10%

ส่วนข้าวสาร เครื่องนุ่งห่ม ค่าเช่าบ้าน การศึกษา ราคายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 2.28% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น กลุ่มพลังงาน สูงขึ้น 37.24% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึง 35.89% ปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก ค่ากระแสไฟฟ้า สูงขึ้น 45.43% ตามการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 และราคาก๊าซหุงต้ม สูงขึ้น 8.00% จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ตั้งแต่เดือนเมษายนไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2565

ด้านสินค้ากลุ่มอาหาร พบว่าสูงขึ้น 6.18% อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการเลี้ยง ส่วนผักสด ราคาเปลี่ยนแปลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาด ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน สินค้าอื่นๆ

ส่วนกลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 2.81% โดยเฉพาะราคาข้าวสาร ราคาปรับลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมากกว่าปีที่ผ่านมา การศึกษา ลดลง 0.65% ตามค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาที่ปรับลดลงทุกระดับชั้น เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงเล็กน้อย 0.06%

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายน 2565 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายนนี้ และการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)

ขณะที่สินค้าอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปที่ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงต้นทุน การขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ด้านกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0 – 5.0% (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5) ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อ ไตรมาส 2 มองว่าจะมากกว่า 4% แต่ทั้งนี้ก็รอประเมินเงินเฟ้ออีกครั้ง ส่วนไตรมาส 3 หากทิศทางราคาน้ำมันยังสูงขึ้น เชื่อว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในอัตราที่สูงอยู่ แต่ก็ยังคงต้องติดตามและจากรายงานพบว่าสหรัฐจะเข้าพบซาอุฯ ซึ่งมีความคาดหวังว่าจะหารือด้านพลังงานก็อาจจะส่งผลดี แต่อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าทั้งปีเงินเฟ้อไม่ถึง 6-7% แน่นอน และยังไม่มีการเป้าหมายเงินเฟ้อแต่ก็ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

Related Posts

Send this to a friend