POLITICS

สื่อทำเนียบสัญจรลงพื้นที่ จชต. ติดตามเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

สำนักโฆษก จัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ก่อนนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ จ.ยะลา 7 สิงหาคมนี้

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ ระหว่างวันที่ 5 – 7 สิงหาคม 2562 ณ จังหวัดสงขลา ปัตตานี และยะลา เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อน และพัฒนาพื้นที่ด้านเศรษฐกิจตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยมีสื่อมวลชนจากสถานีโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ จำนวน 21 ราย เข้าร่วมกิจกรรม

โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” (ปี 2560-2563) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ ด้วยการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้อย่างเต็มรูปแบบ โดยนำร่องในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่

1. อำเภอ หนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร”

2. อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็น “เมืองต้นแบบการค้าขายชายแดนระหว่างประเทศ”

3. อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็น “เมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน”

โดยคณะสื่อมวลชน จะได้เยี่ยมชมพื้นที่ด้านเศรษฐกิจตามโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ดังนี้

บริษัท ม่านกู่หว่าง ฟู้ด จำกัด อ.เทพา จ.สงขลา เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างภาคเอกชนไทยและจีน ก่อสร้างโรงงานแปรรูปทุเรียนด้วยเงินลงทุน 700 ล้านบาท รับซื้อผลผลิตทุเรียนเพื่อแปรรูปแช่แข็งเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน โดยใช้แรงงานในพื้นที่ในกระบวนการผลิตในโรงงานประมาณ 1,200 คน ใช้เงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2,000 ล้านบาท รับซื้อทุเรียน 1.2 หมื่นตันต่อปี และในปี 2563 ตั้งเป้าไว้ว่าจะรับซื้อทุเรียนเพิ่ม 2 หมื่นตัน ซึ่งเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของผลผลิตทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

บริษัท หนองจิกพัฒนา จำกัด อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นโรงงานแปรรูปมะพร้าวครบวงจร โดยในขณะนี้มีการสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อรองรับผลผลิตจากมะพร้าวของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยมีกําลังผลิต 160,000ลูก/วัน และจะขยายเป็น 240,000 ลูก/วัน ในปี 63 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรในพื้นที่ตามโครงการเมืองต้นแบบฯ คาดว่าจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวได้ไม่น้อยกว่าปีละ 500 ล้านบาท

วิสาหกิจชุมชน “โอรังปันตัย” จ. ปัตตานี พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในการแปรรูปอาหารทะเล เป็นศูนย์กลางในการรับซื้ออาหารทะเลสดประเภทต่างๆ ที่จับโดยเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาตัดแต่งและแปรรูปอาหารทะเลปลอดสารเคมีสู่ผู้บริโภค สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชนประมงพื้นบ้าน ยกระดับราคาของสัตว์น้ำ จ. ปัตตานี ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

ท่าอากาศยานเบตง จ. ยะลา อำเภอเบตงมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของอำเภอเบตงตั้งอยู่ในระหว่างเทือกเขา ทำให้การคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักมีความล่าช้าใช้เวลาในการเดินทางมากและมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อให้การคมนาคมของอำเภอเบตงและพื้นที่ใกล้เคียงมีความสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงในพื้นที่ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ในกรอบวงเงิน 1,900 ล้านบาท โดยให้กรมท่าอากาศยานรับผิดชอบ

นอกจากนี้เบตงยังเป็นหนึ่งในพื้นที่ของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย ประกอบด้วย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle หรือ IMT-GT) สนามบินเบตงจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าไทย-มาเลเซียบริเวณด่านชายแดนเบตงเพิ่มขึ้น เนื่องจาก อ.เบตง เป็นพื้นที่ติดชายแดน รัฐเปรัค และรัฐเคดาห์ ของประเทศมาเลเซีย และช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางมากกว่าไปใช้สนามบินปีนัง ที่เดินทางประมาณ 90 กม. ทั้งนี้คาดว่าสนามบินเบตงจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2563

Related Posts

Send this to a friend