POLITICS

กพศ. เคาะแล้ว ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค

กพศ. เคาะแล้ว ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง คาด แล้วเสร็จปี 70

วันนี้ (5 พ.ค.65) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กพศ. พิจารณาและเห็นชอบ การประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 ภาค และให้นำเรื่องการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยกำหนดให้พื้นที่ ดังนี้

1) จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor : NEC – Creative LANNA เพื่อยกระดับให้เป็นพื้นที่ลงทุนด้านการพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศอย่างยั่งยืน

2) จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคายเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor : NeEC – Bioeconomy เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งใหม่ของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตลอดห่วงโซ่การผลิตเชื่อมโยงการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพ

3) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง – ตะวันตก หรือ Central – Western Economic Corridor : CWEC เพื่อพัฒนาให้เป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำในด้านอุตสาหกรรมเกษตรการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมไฮเทคมูลค่าสูงระดับมาตรฐานสากล เชื่อมโยงกรุงเทพฯ พื้นที่โดยรอบ และ EEC

4) จังหวัดชุมพร จังหวัดระนอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและประเทศในภูมิภาค ฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวระดับนานาชาติ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน

ที่ประชุมยังเห็นชอบการขยายระยะเวลาสิทธิประโยชน์การยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากหนองคาย มุกดาหาร นครพนม และกาญจนบุรี จากเดิม ระยะเวลาสิ้นสุดภายในปี 2563 เป็น ให้สิ้นสุดภายในปี 2566 เพื่อเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยหากเอกชนลงทุนภายในปี 2565 จะได้รับการยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 2 ปี และหากเอกชนลงทุนภายในปี 2566 จะได้รับการยกเว้นค่าเช่า 1 ปี และมอบหมายให้กรมธนารักษ์ดำเนินการเปิดประมูลที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หนองคาย และมุกดาหารตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการปรับปรุงแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ประกอบด้วย โครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR – Map) จำนวน 10 เส้นทาง ระยะทางรวม 6,530 กิโลเมตร เพื่อรองรับการพัฒนาและเชื่อมโยงฐานการผลิตและบริการกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และโครงการถนนสาย ทล. 2 – สถานีรถไฟนาทา อ.เมืองหนองคาย จ.หนองคาย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย และรองรับขนส่งสินค้าทางรถไฟ

ส่วนการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ที่ปัจจุบันมีการลงทุนของภาคเอกชนแล้วประมาณ 36,882 ล้านบาท โดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ปี 2563 -ปัจจุบัน) ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกิจการถุงมือยางและการผลิตไฟฟ้าจากขยะ และภาครัฐได้มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร ซึ่งมีความก้าวหน้ากว่าร้อยละ 89 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2570

Related Posts

Send this to a friend