POLITICS

‘ศศินันท์’ จี้ รัฐบาลจริงจังกับวิกฤต ‘เด็กเกิดต่ำ’

‘ศศินันท์’ จี้ รัฐบาลจริงจังกับวิกฤต ‘เด็กเกิดต่ำ’ กล้าประกาศเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับไม่พบในงบ 67

วันนี้ (5 ธ.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล แนะนำตัวก่อนอภิปรายงบประมาณปี 2567 ว่า เป็นแม่ลูกสองที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านการเมือง

น.ส.ศศินันท์ อ้างถึงข่าวที่ระบุว่า “นายกเศรษฐา ทวีสิน ตกใจอัตราเด็กเกิดต่ำในรอบ 71 ปี ชี้ เป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลต้องทำการบ้าน” ก็แอบดีใจเพราะเคยอภิปรายเรื่องนี้ไว้ แต่กลับไม่พบในงบประมาณปี 67 และวิกฤตเด็กเกิดต่ำที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเป็นวาระแห่งชาติ มีนโยบาย QuicK WIN เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวง มีการออกแคมเปญมาอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อส่งเสริมการมีบุตร แต่ตัวเลขงบประมาณโครงการแทบไม่ได้แตกต่างอะไรเลยจากงบประมาณปี 66

“วิกฤตเด็กเกิดต่ำ ไม่ได้มีแค่พวกท่านที่ตกใจค่ะ เพราะก่อนหน้านั้นก็มีผู้นำประเทศนึง ออกมาขอร้องให้ประชาชนมีลูกช่วยชาติเหมือนกัน เพิ่มน้ำตาอีกสักนิดก็จะเหมือนกันแล้วนะคะ”

น.ส.ศศินันท์ ระบุว่าวิกฤตเด็กเกิดต่ำ เป็นวิกฤตที่ทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาเดียวกัน แต่ละประเทศที่ผู้นำเข้าใจถึงปัญหาจะมีการกำหนดนโยบายและการจัดสรรงบไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่แค่การ “ขอร้อง” ให้ประชาชนมีลูก รัฐบาลเกาหลีใต้ ทุ่มงบประมาณอุดหนุนการดูแลเด็กเพิ่มขึ้น 8 เท่า ใน 14 ปี และได้เพิ่มเงิน 2 เท่าให้คนมีลูกต่อเดือนจาก 7-8,000 บาทต่อเดือน เป็น 26,000 บาท

ประเทศสิงคโปร์ ที่แม้จะมีอัตราการเกิดต่ำ และค่าครองชีพที่สูงมากขึ้น ก็ยังมีมาตราการในการเพิ่มค่าเลี้ยงดูมากขึ้นกว่าเดิมถึง 30% หรือประมาณ 280,000 บาทต่อการมีลูก 1 คน และเพิ่มขึ้นตามลำดับหลังจากมีลูกคนที่ 2 และ 3 อีกประเทศ คือ ไต้หวัน แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยด้วยการเพิ่มเงินอุดหนุนเด็ก และเพิ่มงบประมาณจาก 15,000 ล้านเหรียญไต้หวัน เป็น 80,000 ล้านเหรียญไต้หวัน 5 เท่าตัว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก

น.ส.ศศินันท์ ระบุว่างบประมาณในการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ประเด็น “ส่งเสริมการมีบุตร” ตัวเลขงบประมาณ 2,184,000 บาท แต่ไม่มีรายละเอียด ที่จะกล่าวถึงกลุ่มแม่และเด็กในขณะที่งบประมาณในการคัดกรองความพิการแต่กำเนิดของเด็กแรกเกิดอยู่แค่ที่ 1 ล้านบาท น้อยกว่างบเช่ารถยนต์ประจำตำแหน่งรัฐมนตรีบางกระทรวงเสียอีก

“นี่คือการจัดสัดส่วนงบประมาณของกระทรวงสาธารณะสุขที่เป็นเจ้าภาพหลักในการประกาศให้วิกฤตเด็กเกิดต่ำเป็นวาระแห่งชาติ แต่กลับไม่ได้เป็นกระทรวงนำร่องที่มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาจริงๆ”

น.ส.ศศินันท์ระบุว่าการจะแก้ปัญหาเรื่องวิกฤตเด็กเกิดต่ำ ไม่ใช่แค่เรื่องความสัมพันธ์ทางกาย แต่ต้องแก้เป็นวงจร เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ประชากรของเราไม่อยากมีลูก แต่คือโครงสร้างของประเทศที่มันไม่ได้เอื้อให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เด็กรุ่นนี้ใช้ชีวิตด้วยความสงสารตัวเองในทุกวัน

“หากคณะรัฐบาลยังจัดงบโดยไม่เข้าใจว่า วิกฤตเด็กเกิดต่ำ คือ อนาคตของประเทศที่วิกฤตการตัดใจไม่มีลูกของคนในวัยนี้ จะกลายเป็นเสียงประท้วงรัฐบาลของพวกเขาได้ดังที่สุด ว่ายังใช้ภาษีในการจัดสรรสวัสดิการในการดูแลประชาชนไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะไม่มีพ่อแม่คนไหน อยากให้ลูกอยู่ในประเทศที่ไร้ซึ่งความหวังค่ะ” น.ส.ศศินันท์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend