POLITICS

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามการฟอกเงิน

ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามการฟอกเงิน ครอบคลุมความผิดค้าสื่อลามกอนาจาร หนีภาษี เก็บดอกเบี้ยโหด 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อนี้ว่า ครม.อนุมัติร่าง พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เสนอ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ปรับปรุงมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ตามข้อแนะนำของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (The Financial Action Task Force – FATF) มีสาระสำคัญ คือ

1.แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม “ความผิดมูลฐาน” ให้ครอบคลุมความผิดในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การค้าสื่อลามกอนาจารเด็ก การหลีกเลี่ยงหรือลักลอบหนีศุลกากร การปลอมเอกสารสิทธิ/เอกสารราชการ การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล การสมยอมในการเสนอราคา การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และเพิ่มบทนิยาม “ผู้ประกอบอาชีพ” ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับผู้ประกอบธุรกิจในไทย

2.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับแจ้ง การรวบรวม และจัดส่งข้อมูลของพนักงานศุลกากรให้สำนักงาน ปปง. ครอบคลุมตราสารเปลี่ยนมือข้ามแดน และกำหนดให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจยึดเงินตราต่างประเทศ และตราสารเปลี่ยนมือข้ามแดนดังกล่าวได้

3.กำหนดหน้าที่สมาคม มูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ โดยหากมีเหตุอันควรสงสัย สำนักงาน ปปง. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สามารถสั่งระงับการทำธุรกรรมเป็นการชั่วคราวได้

4.กำหนดหลักเกณฑ์การเก็บรักษารายละเอียดของข้อมูล หรือเอกสารเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า 

5.เพิ่มบทบัญญัติความผิด กรณีใช้/ยอมให้บุคคลอื่นใช้ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐาน หรือเป็นตัวกลางในการจัดหาข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานของบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการปกปิดตัวตนในการทำธุรกรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่ประชุมยังให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นำร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นความผิดมูลฐาน) รวมเป็นฉบับเดียวกันกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ รวมถึงให้พิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานของค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปัน (NGOs) ให้มีความสดคล้องกันด้วย เพื่อไม่ให้มีการออกกฎหมายหลายฉบับที่มีหลักการซ้ำซ้อนกันหรือขัดแย้งกัน

Related Posts

Send this to a friend