รัฐบาลเผยผลสำรวจ ชี้ แจ้งข่าวน้ำท่วมผ่านวิทยุ เข้าถึง ปชช.ที่สุด
รัฐบาล ยกผลสำรวจพฤติกรรมคนไทยกับการฟังวิทยุ ชี้ แจ้งข่าวน้ำท่วมผ่านวิทยุ เข้าถึง ปชช.ที่สุด คนนิยมทุกวัย
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างการประชุม การบริหารจัดการสถานการณ์การอุทกภัยและให้ความช่วยเหลือ ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 เกี่ยวกับการสื่อสาร
โดยให้เน้นย้ำแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทาง ให้เข้าถึงชุมชน หมู่บ้าน ให้ประชาชนรับทราบและเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเบื้องต้น รวมทั้งจะต้องมีแผนสำรองด้านการสื่อสาร โดยนายกรัฐมนตรีย้ำให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านทางวิทยุ เพราะวิทยุเป็นสื่อที่ยังเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด อีกทั้ง มีผลสำรวจข้อมูลยืนยันว่า สื่อวิทยุยังเป็นที่นิยมของประชาชนทุกช่วงวัย
นายอนุชา กล่าวว่า ตามประกาศคณะกรรมการ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ได้ระบุว่า ให้ผู้ประกอบกิจการทุกรายจัดเตรียมความพร้อมในการรับหรือแสวงหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อประโยชน์ในการออกอากาศ แจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ ซึ่งผู้ประกอบกิจการจะต้องจำแนกข้อมูลสำหรับแจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ ดังต่อไปนี้
(1) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงข่าวสารเพื่อทราบ ซึ่งได้แก่ ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงทั่วไปที่อาจมีผลสืบเนื่องหรือนำไปสู่ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น
(2) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการเฝ้าระวัง ซึ่งได้แก่ ประกาศหรือข้อมูลที่มุ่งหมายให้หน่วยงาน องค์กร หรือประชาชนเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน
(3) ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการแจ้งเตือน ซึ่งได้แก่ ประกาศ คำสั่ง หรือหลักเกณฑ์ใด ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นการกำหนดให้หน่วยงาน องค์กร หรือประชาชนจะต้องปฏิบัติตามเพื่อการป้องกันหรือระงับยับยั้งความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน
นายอนุชา ยังเปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการรับฟังรายการวิทยุทั่วประเทศ จากจำนวนผู้ฟัง 3,655 คน อ้างอิงจากสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานกสทช. และสถาบันอาณาบริเวณศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่า ผลสำรวจอุปกรณ์หลักในการรับฟังวิทยุ พบว่าร้อยละ 68.9 ของกลุ่มผู้ฟัง ยังนิยมรับฟังจากเครื่องรับวิทยุทั้งจากวิทยุในบ้าน วิทยุพกพา หรือวิทยุในรถยนต์ รองลงมาร้อยละ 19.3 รับฟังจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้ง 3G 4G และ wifi ส่วนร้อยละ 7.8 เป็นการรับฟังจากวิทยุที่อยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต ขณะที่ร้อยละ 0.3 รับฟังผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ก แล็ปท็อป และคอมพิวเตอร์พกพา
ส่วนคลื่นที่ใช้ในการรับฟังรายการวิทยุ จากการสำรวจพบว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.9 รับฟังรายการวิทยุจากคลื่น FM ตามด้วยการรับฟังวิทยุออนไลน์ร้อยละ 17.5 และรับฟังจากคลื่น AM ร้อยละ 11.2
สำหรับพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จากข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบFM จำนวน 40 สถานี จากทุกช่องทาง ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และข้อมูลการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในระบบ FM ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 36 สถานี อ้างอิงจาก บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ระบุถึงพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จำนวนผู้ฟังวิทยุรายเดือน แยกตามช่วงอายุ Generation พบว่า ข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2565 ผู้ฟังกลุ่ม Gen X อายุ 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่ฟังวิทยุมากที่สุดถึงกว่า 3.5 ล้านคน รองลงมาคือ ผู้ฟังกลุ่ม Gen Y อายุ 20- 29 ปี ฟังวิทยุกว่า 3.3 ล้านคน ขณะที่ผู้ฟังกลุ่ม Baby Boomer อายุ 60-71 ปี ฟังวิทยุสูงเกือบ 2 ล้านคน และผู้ฟังกลุ่มGen Z อายุ 12-19 ปี มีการฟังวิทยุถึงกว่า 8 แสนคน