POLITICS

‘ดร.เฉลิมชัย’ เปิดคาราวานเครื่องจักร-เครื่องมือ บรรเทาปัญหาภัยแล้ง ชี้ ความพร้อมด้านเครื่องมือจะแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้แน่นอน

วันนี้ (4 ก.พ. 64) ที่กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีปล่อยคาราวานเครื่องจักร-เครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2563/2564 พร้อมเดินหน้าโครงการจ้างแรงงาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน
 
ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า วันนี้กรมชลประทานมีหน้าที่บริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ทั้งหมดตามแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ผ่านวิกฤตหน้าแล้งไปให้ได้ ซึ่งกรมชลประทานได้นำเสนอความพร้อมเรื่องเครื่องจักร เพื่อเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ และได้มอบนโยบายในการบริหารจัดการน้ำให้แก่หน่วยงานแต่ละสำนัก เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งจนถึงหน้าฝน และเพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกในฤดูกาลหน้า ให้สามารถเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด ดร.เฉลิมชัย ยังระบุด้วยว่า เนื่องจากบุคลากร รวมทั้งเครื่องมือที่มีความพร้อม จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างแน่นอน ขอให้ประชาชนได้สบายใจ
ด้าน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ไว้ทั้งสิ้น 5,935 หน่วย ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ประกอบไปด้วยเครื่องสูบน้ำ 2,140 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 503 คันเครื่องจักรสนับสนุนอื่น 3,292 หน่วยเพื่อให้การช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัยแล้งปี 2563/2564 ได้อย่างทันท่วงทีและลดความเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ
 
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ด้านภัยแล้งในหลายพื้นที่ พร้อมขอความร่วมมืองดการสูบน้ำเพื่อทำนารอบที่ 2 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังนำเครื่องจักร เครื่องมือ ลงพื้นที่กำจัดวัชพืช และผักตบชวาในทางน้ำชลประทานและทางน้ำสายหลักต่างๆ ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน รวมทั้งแม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำให้ประชาชนสามารถใช้น้ำเพื่อกิจกรรมต่างๆ ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งได้ กรมชลประทานได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทาน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 สามารถจ้างแรงงานได้ 94,000 คน งบประมาณทั้งสิ้น 5,662.34 ล้านบาท ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานไปแล้ว 8,237 คน หรือร้อยละ 9 ของแผนการจ้างงาน โดยหลักเกณฑ์การจ้างแรงงานจะเน้นพิจารณาจ้างเกษตรกร หรือประชาชนในพื้นที่ชลประทานก่อน อาทิ เกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานที่ขาดรายได้จากการทำเกษตรกรรม และหากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่ไม่เพียงพอจะพิจารณาจ้างแรงงานจากพื้นที่ใกล้เคียงตามความเหมาะสม หากเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูล หรือสมัครเข้าร่วมงานได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านทุกแห่ง

Related Posts

Send this to a friend