POLITICS

รอมฎอน’ ชี้ ลดงบแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้อีก 600 ล้านบาท

รอมฎอน’ ชี้ ลดงบแก้ปัญหาชายแดนใต้ได้อีก 600 ล้านบาท แนะ เปิดพื้นที่ให้ปชช. กระจายงบสู่ท้องถิ่น เน้นเจรจาสร้างสันติภาพ เสนอรัฐ รื้อคดีตากใบ – ปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ – ตัดงบ กอ.รมน. จริงจัง

วันนี้ (4 ม.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2567 นายรอมฎอน ปันจอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนเองจะพูดเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดใช้แดนภาคใต้ ในประเด็นที่ว่า “20 ปีไฟใต้ ซุกงบ ซ่อนวิกฤต หรือเปิดโอกาสสันติภาพ?” ย้อนกลับไป 20 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส โดยกองกำลังของ BRN ปล้นปืนจากค่ายทหารไปกว่า 400 กระบอก ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องวิกฤตเพราะเราต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินมาแล้วกว่า 74 ครั้ง ซึ่งในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้ารัฐบาลจะต้องตัดสินใจว่าจะต่อเป็นครั้งที่ 75 หรือไม่ และมีการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดอยู่

นายรอมฎอน ระบุว่า คำกล่าวนายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายที่แก้ไข จะมุ่งเน้นสร้างสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดใช้แดนภาคใต้ด้วยหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง แต่ตอนนี้เห็นว่าการปกครองประเทศ โดยกฎหมายอย่างเป็นธรรม และเสมอหน้า จะทำให้วิกฤตทางการเมืองหลายอย่างคลี่คลายได้โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ อีกทั้งงบประมาณที่จัดเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้นั้น ไม่ได้ต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา แม้จะมีสัญญาณที่ดี แต่ทิศทางใหญ่ไม่ได้ต่างจากรัฐบาลก่อนหน้า

นายรอมฎอน ระบุว่า ต้นทุนของสังคมไทยในการแก้ไฟใต้ เราสูญเสียชีวิตคน และงบประมาณ ใน 20 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดขึ้น 22,296 ครั้ง บาดเจ็บล้มตาย 21,575 ราย โดยช่วงที่มีการเจรจาสร้างสันติสุข เหตุการณ์จะลดลง และเรื่องงบประมาณรวมถูกใช้ไปกว่า 5.4 แสนล้านบาท โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงการทำรัฐประหาร

นายรอมฎอน ระบุว่า การจัดการวิกฤตโดยการประเมินต้นทุนที่แท้จริง โดยงบประมาณที่มีการจัดสรรแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 2560 จะมี 2 ส่วน ซึ่งเป็นงบที่ซ่อนอยู่ คืองบของแผนบูรณาการ ซึ่งเป็นงบที่ถูกพูดถึงอย่างเดียว หากไม่มีการพูดโดยละเอียด จะไม่สามารถประเมินการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

ส่วนแผนบูรณาการ มีการวางเป้าหมายว่าเหตุรุนแรงจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ร้อยละ 70 โดยสัดส่วนด้านความมั่นคง มีการใช้งบประมาณน้อยกว่าด้านการพัฒนา แต่หากดูโดยละเอียดแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เหตุรุนแรงลดลง ในฐานะนักวิชาการ และผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ จะเรียกสิ่งนี้ว่าสันติภาพเชิงลบ/ลด โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อมุ่งไปสู่ความสงบเรียบร้อย ถือเป็นสิ่งที่เราวาดฝันเอาไว้ แต่ในความเห็นของตนเอง รัฐบาลพลเรือนควรมีความมุ่งมั่นมากกว่านี้ ต้องเห็นถึงเงื่อนไขของความรุนแรงว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ต้องเพิ่มสันติภาพเชิงบวก (Positive Peace) เพิ่มความนิติธรรมเน้นการแบ่งสรรปันอำนาจ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพปรับปรุงกฎหมายปฏิรูปกองทัพ ฯลฯ โดยในการจัดงบของรัฐบาลนี้ไม่เห็นถึงสิ่งที่กล่าวมาในข้างต้น

นายรอมฎอน กล่าวว่า จำนวนเงินในครั้งนี้เพิ่มจากรอบที่แล้วมา 6.5% โดยดูจากตัวชี้วัดในอดีตมีการตั้งเป้าหมายว่าจะลดลงร้อยละ 10 ต่อปี ข้อคอรหาก่อนหน้าคือ “ถ้าสงบ งบจะไม่มา” แต่ตัวชี้วัดปัจจุบันที่ถูกแก้ไขในรัฐบาลประยุทธ์ ตัวเลขหายไป แต่มีตัวชี้วัดเป็นดัชนีความสงบสุขภาคใต้ และไปเพิ่มงบประมาณในการรักษาความปลอดภัยการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งการจัดงบประมาณของรัฐบาลชุดนี้ ต้องเป็นไปตามกรอบที่ทำเอาไว้ โดยหากยึดตามตัวชี้วัดเดิม จะมีส่วนลดงบประมาณไปได้ 600 กว่าล้าน และเมื่อรวมกับส่วนที่ลดไปก่อนน่าจะสามารถลดได้ถึง 1,032 ล้านบาท ตนเองเชื่อว่าตัดได้อีกเพื่อให้สอดรับกับตัวชี้วัดเดิมที่รัฐบาลตั้งเอาไว้

สำหรับดัชนีความสงบสุขในภาคใต้ เราต้องลดงบประมาณเพื่อชี้ว่าความรุนแรงลดลง แต่ตอนนี้จะสงบหรือไม่สงบ งบก็ต้องมาหรือไม่ ซึ่งตัวชี้วัดดังกล่า วอาจไม่รวมเรื่องสถานการณ์ แต่อาจรวมแค่เรื่องงบประมาณ และ GDP ของจังหวัด

นายรอมฎอน ระบุว่า ก่อนหน้านี้มีโครงการส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีเพราะตอนนี้ถูกตัดออกไปแล้ว รวมถึงในครั้งนี้ไม่เจองบเกี่ยวกับปฎิบัติการข่าวสาร แต่แท้จริงแล้วยังมีอยู่ คืองบไอโอ ซึ่งก็หาไม่เจอว่าซ่อนอยู่ตรงไหน และอยากขอฝากทางคณะกรรมาธิการว่างบส่วนนี้อยู่ตรงไหน รวมไปถึงงบฟ้องปิดปากที่ไม่มีอยู่แล้ว

นายรอมฎอน ระบุอีกว่า การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติสุขของ สมช. มีงบ 10.1 ล้านบาทและการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของ กอ.รมน. มีงบ 9.3 ล้านบาท การสนับสนุนและใช้งานเครือข่ายมวลชนเพื่องานด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ของ กอ.รมน. มีงบ 368 ล้านบาทซึ่งไม่ได้อยู่ในแผนบูรณาการ ส่วนต่อไปคือการกำลังพลและการดำเนินการใช้งบ 3,535 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่ถือว่าเป็นบัญชีผี จากกรณีของ สิบตำรวจโทหญิงที่มีรายชื่ออยู่ที่ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ตัวอยู่จังหวัดราชบุรี จึงเป็นคำถามว่างบส่วนนี้มีผีกี่ตัว หรือเป็นการฝากไว้เฉย ๆ

“สำหรับ กอ.รมน. เป็นงบเป็นหน่วยขอรับงบประมาณที่มากที่สุดในหน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีกว่า 7,545 ล้านบาท โดย 3 ใน 4 ของงบดังกล่าวใช้กับปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่กลับสร้างปัญหาเสียเอง จึงขอสรุปได้ว่า ด้วยสัดส่วนและภาวะพึ่งพางบประมาณเช่นนี้ กอ.รมน. จะอยู่ต่อไปได้อย่างไร หากสันติภาพชายแดนใต้เกิดขึ้น เขาเป็นหน่วยงานที่ต้องรับมือเกี่ยวกับภัยความมั่นคง จึงเกิดการตั้งคำถามว่าใช่หรือไม่ที่จำเป็นต้องให้มีภัยความมั่นคง เพื่อให้หน่วยงานเช่นนี้ดำรงอยู่ต่อ และเป็นไปได้หรือไม่เมื่อทิศทางการสร้างสันติภาพดีขึ้นหน่วยงาน กอ.รมน. ก็จะขัดขวาง” นายรอมฎอน กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณที่เป็นค่าตอบแทนพิเศษสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนใต้กว่า 52 หน่วยงาน 1,527 ล้านบาท ในอนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะตัดงบส่วนนี้ หรือนำงบส่วนนี้ไปให้คนในพื้นที่จัดการชีวิตตัวเอง

นายรอมฎอน อภิปรายว่า เรามีการจัดสรรงบประมาณที่มีความมุ่งมั่นทางการเมืองกว่านี้หรือไม่ มีความใส่ใจ มีความกล้าหาญมากกว่านี้ได้ไหม โดยตนเองเชื่อว่า ถ้านายกรัฐมนตรีให้ความใส่ใจมากพอ กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการกับพรมแดนที่เคยครอบครองโดยหน่วยงานความมั่นคง อย่าง กอ.รมน. เราอาจเห็นอะไรดีกว่านี้ภายใต้เงื่อนไขนี้ และเกิดเป็นข้อเสนอดังนี้

1.เป็นไปได้หรือไม่ที่จะฟื้นคดีตากใบขึ้นมา เพราะจะหมดอายุความในอีก 10 เดือน ช่วยผลักดันและกำชับในคดีนี้ หากตำรวจหวังพึ่งไม่ได้ ก็ต้องหวังพึ่งดีเอสไอ ภายใต้เงื่อนไข และเวลาจำกัด ริเริ่มฟื้นฟูคดีนี้ และอีกเรื่องคือการฟ้องปิดปากสามารถหยุดได้หรือไม่ เพราะถ้าเรามีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง เราอาจไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมถึงยกเลิกกฎหมายพิเศษต่าง ๆ ด้วย

2.ปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทที่เกี่ยวข้อง กับทิศทางใหม่ของการสร้างสันติภาพ และการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นไปที่การสถาปนากระบวนการยุติธรรม เปิดพื้นที่ทางการเมือง ให้น้ำหนักกับการพูดคุย การเจรจาสันติภาพ ซึ่งจะถือว่าเป็นหลักประกันที่จะให้ความปลอดภัยต่อทุกคน และทุกฝ่าย

3.ตัดลดงบประมาณของ กอ.รมน. อย่างจริงจัง และขนาดใหญ่ ถ้างบประมาณที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เพราะอาจเป็นการส่งสัญญาณที่ดีเป็นทิศทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ในวาระ 20 ปีนี้ ความรุนแรงที่ต่อเนื่องในชายแดนใต้ ถึงเวลาที่เราต้องกลับมานั่งทบทวน นึกถึงสิ่งที่ผ่านมา งบประมาณที่ไม่จำเป็น ต้องปรับลด และหาวิธีกันใหม่ วิกฤติครั้งนี้เราสามารถเดินหน้าก้าวผ่านไปได้แต่ด้วยวิธีความกล้าหาญและความใส่ใจที่มากกว่านี้” นายรอมฎอน กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend