POLITICS

รัฐบาลมั่นใจเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทย แข็งแกร่ง ทั้งฐานะการคลังและฐานะการเงิน

รัฐบาลมั่นใจเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ทั้งฐานะการคลังและฐานะการเงิน ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 242,772.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นสูงถึง 3 เท่า ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังคงได้รับผลกระทบน้อย

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากตัวเลขทางเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทั้งด้านฐานะการคลังและฐานะการเงิน โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 59.88 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 242,772.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นสูงถึง 3 เท่า อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2565 คาดว่าจะกลับมาเกินดุลได้เล็กน้อยตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รัฐบาลยังมีเงินคงคลังเพียงพอต่อการใช้จ่ายที่จำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลยังอยู่ในเกณฑ์ดี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงที่ผ่านมายังค่อนข้างน้อยและเป็นไปเพียงในระยะสั้น โดยปกติตลาดหลักทรัพย์จะมีความผันผันผวนตามสถานการณ์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2565 สถานเงินทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ที่ 81,356.8 ล้านบาท

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังคงมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทิศทางค่าเงินบาทโดยรวมยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 2.10 จากต้นปี 2565 จากแผนการเปิดประเทศและตามสถานะเงินลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไทย ด้านการส่งออก ในเดือนมกราคม 2565 พบว่าการส่งออกในเดือนนี้ขยายตัว 8% หรือมีมูลค่า 21,258.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนมูลค่านำเข้าขยายตัว 20.5% หรือมีมูลค่า 23,785 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ การที่ส่งออกไทยขยายตัวเป็นบวกในเดือนแรก มาจากความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในรูปแบบ กรอ.พาณิชย์ในการผลักดันการส่งออกไทย รวมถึงการฟื้นความสัมพันธ์การค้าระหว่างซาอุดิอาระเบีย และยังมีการประเมินว่า ปัญหาสงครามการระหว่างรัสเซีย-ยูเครนจะยังไม่กระทบกับการส่งออกไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจาก รัสเซียและยูเครนไม่ใช่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย

โดยในปี 2564 ไทยได้ส่งออกสินค้าสู่รัสเซีย และยูเครนมีมูลค่า 32,507.68 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.38 ของมูลค่าการส่่งออกรวม) และ 4,228.78 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการส่่งออกรวม) หรือเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 36 และ 74 ของไทย ตามลำดับ ทางด้านการนำเข้า ไทยได้นำเข้าสินค้าจากรัสเซีย และยูเครนมีมูลค่า 55,659.65 ล้านบาท (คิดเป็น ร้อยละ 0.65 ของมูลค่านำเข้ารวม) และ 8,199.64 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.09 ของมูลค่าการนำเข้ารวม) ตามลำดับ หรือคิดเป็นประเทศคู่ค้าด้านการนำเข้าลำดับที่ 26 และ 57 ของไทย

“ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศษฐกิจ ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ S-Curve รวมทั้งการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล พลังงาน EEC การใช้มาตรการทางการเงินและการคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการระบาดของโควิด และการปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ประชาชน ช่วยสร้างความเข็มแข็งให้กับจากทำให้ระบบและโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากวิกฤตรัสเซียยูเครน สามารถยุติลงได้โดยเร็ว มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงจะสามารถขยายตัวทั้งปี ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ในปี 2565 ได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้” นายธนกร กล่าว

Related Posts

Send this to a friend