เลขาธิการพรรคเป็นธรรม พร้อมนำทัพคนรุ่นใหม่ปาตานีสู้ศึกเลือกตั้ง เตรียมผลักดันปัญหาชาวประมงพื้นบ้านอ่าวปัตตานีเป็นวาระเร่งด่วน

วันนี้ (3 ก.พ. 66) นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ประชุมร่วมกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเป็นธรรม ที่ศูนย์ประสานงานพรรคเป็นธรรม อ.เมือง จ.ยะลา ขณะนี้มีว่าที่ผู้สมัคร ใน 6 เขตเลือกตั้งพร้อมแล้ว ประกอบด้วย
1.นายฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
2.นายมุสตารซีดีน วาบา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จังหวัดปัตตานี
3.นายดุลยา เบญฮาริศ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จังหวัดปัตตานี
4.นายสูไฮมี ดูละสะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 3 จังหวัดปัตตานี
5.นายมูฮัมหมัดกัสดาฟี กูนา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 4 จังหวัดปัตตานี
6.นายซูพียัน ดารีอิโซ๊ะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จังหวัดยะลา
7.นายฮาฟิส ยะโกะ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 3 จังหวัดนราธิวาส
นายกัณวีร์ กล่าวว่า ตนเองพร้อมนำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง แม้พรรคเป็นธรรม จะเป็นพรรคใหม่ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ต่างเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ทุกคนล้วนเป็นนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจากกลุ่มปาตานีบารู และนักกิจกรรมอิสระ ซึ่งต่างมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น ด้านการศึกษา ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านชาติพันธุ์มลายู และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านมนุษยธรรม ที่พรรคเป็นธรรมเน้นหลักการมนุษยธรรมนำการเมือง และนโยบายที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สันติภาพที่กินได้ จังหวัดจัดการตนเอง และความมั่นคงทางอาหาร โดยเตรียมเปิดเวทีปราศัยใหญ่เร็วๆ นี้ที่จ.ยะลา
“พรรคเป็นธรรม (Fair Party) หรือในชื่อภาษามลายูเรียกว่า Parti Adil” เราอยากให้ส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรมและอัตลักษณ์มลายูด้วย ก็จะทำความรู้จักกับประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น”
นายกัณวีร์ ยังได้ลงพื้นที่ ม.1 บ้านบูดี ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี รวมกับนายมุสตารซีดีน วาบา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จังหวัดปัตตานี พรรคเป็นธรรม ได้รับฟังปัญหาชาวประมงพื้นบ้านที่กำลังวิกฤตจากโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ที่ทำลายระบบนิเวศ และผลกระทบต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ชุมชนประมงอ่าวปัตตานี ที่เคยสร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาท ต้องสูญเสียรายได้เหลือเพียงประมาณ 70 ล้านบาทเท่านั้น
“ผมออกเรือหาปลาตั้งแต่เช้ากลับมาเย็นได้เงินแค่ 240 บาท ค่าน้ำมันก็ 190 บาท เหลือเงินไม่พอจะเป็นเงินให้ลูกไปโรงเรียนที่ต้องใช้วันละ 100 บาท ต่อคน ลูกสามคนก็ต้อง 300 บาท แล้วค่ากินอีก เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ปี 62 ที่เขาเริ่มขุดลอกคลองในอ่าวปัตตานี ปลาก็หายากขึ้น จนผมนั้นท้อ คิดหนักว่าจะหาเงินที่ไหนให้ลูกได้เรียนหนังสือ”

นายกัณวีร์ เล่าถึงความรู้สึกของชาวประมงบ้านบูดี ที่ต้องเผชิญกับปัญหาจากโครงการของรัฐ ที่ก่อนจะมีการสร้างไม่ได้มีการสอบถามจากชาวบ้าน โดยเฉพาะโครงการขุดลอกคลองอ่าวปัตตานีที่ทำให้ดอนทรายหัวแหลมโพธิ์ขยายตัวเกือบ 2 กิโลเมตร ปิดกระแสคลื่นทะเล ทำให้ไม่เกิดการหมุนเวียนของน้ำ และกระทบต่อระบบนิเวศจนไม่สามารถทำการประมงได้ รวมถึงการสร้างกำแพงกันคลื่นอีก 500 เมตร บริเวณแหลมตาชี ก็สร้างผลกระทบอย่างหนัก
“เมื่อน้ำทะเลตื้นเขิน ทำให้ออกซิเจนในน้ำน้อยลงอย่างมาก และเมื่อแม่น้ำปัตตานีไหลสู่ทะเลไม่สะดวก โคลนต่างๆ ก็เกาะกับแนวปะการัง ทำให้เกิดการเน่า และกระทบระบบนิเวศทางทะเล สัตว์น้ำก็อยู่ไม่ได้” ชาวประมงบ้านบูดี ที่เปรียบเหมือนปราชญ์ชาวบ้าน กล่าว
ขณะที่นายอัลอามีน มะแต อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เปิดเผยว่า ยังมีปัญหาการจับสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมายโดยใช้เครื่องมือดักจับสัตว์น้ำบนผิวดินไม่ว่าขนาดใดๆ ก็ตาม ที่เรียกว่า “ไอ้โง่” เป็นปัญหาที่ทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถเติบโตได้ทันเวลา เพราะสัตว์น้ำตัวเล็กๆ จะถูกไอ้โง่ ที่มีตาข่ายถี่น้อยกว่า 1 ซม. จับไปหมดเกลี้ยง หากอ่าวปัตตานีกลับมามีสภาพที่อุดมสมบูรณ์เหมือนก่อน ปัญหาการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำผิดกฎหมายหมดไปเอง
นาย มุสตารซีดีน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จ.ปัตตานี พรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า ตนเองได้ติดตามปัญหานี้ร่วมกับชาวบ้านมายาวนาน น่าเสียใจมากที่อ่าวปัตตานี ซึ่งเคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตจะใกล้ล่มสลาย เพราะโครงการของรัฐที่มาทำลายระบบนิเวศน์
ขณะที่นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า พรรคเป็นธรรม จะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวประมงอ่าวปัตตานี และผลักดันเป็นวาระเร่งด่วน โดยเฉพาะหน้า ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ทำผิดกฎหมายด้านการจับสัตว์น้ำ ระยะยาวภาครัฐต้องมองการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ทำลายกำแพงพังคลื่นนั้นเสีย เพื่อเร่งปรับปรุงระบบนิเวศน์ให้กลับมาโดยเร็ว การไหลของแม่น้ำปัตตานีจะมีอย่างสมบูรณ์ ดินโคลนจะถูกชะล้าง น้ำที่ตื้นเขินจะกลับมาหากขุดรอกอย่างถูกต้อง และจะเพิ่มออกซิเจนในน้ำ สัตว์น้ำจะกลับมา ปะการังจะปลอดภัย และตัดหัวแหลมที่ยื่นออกมากว่า 2 กิโลเมตรนั้น เพื่อให้การไหลเวียนของคลื่นทะเลเข้าสู่ชายฝั่งอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้สัตว์น้ำเติบโต และประมงพื้นบ้านกลับคืน และวางแผนเชิงวิชาการไม่ให้ดอนทรายยื่นกลับคืนมาอีก โดยสร้างการป้องกันอย่างเป็นระบบต่อไป ซึ่งต้องทำเพื่อให้อู่ข้าวอู่น้ำ ที่ชาวบ้านเปรียบทะเลเสมือน “ตู้ ATM” ของชาวประมงในท้องทะเลกลับคืนสภาพสมบูรณ์มาให้ได้โดยเร็ว
“เราคงมีความหวังว่าอ่าวปัตตานีจะฟื้นคืนชีพ ประมงพื้นบ้านจะกลับคืนมา นโยบายการทำงานที่บ้านเกิด (Work From Hometown) ของพรรคเป็นธรรม จะเป็นจริง และเมื่อฟื้นคืนอ่าวปัตตานีแล้ว โครงการการพัฒนาต่างๆ ควรมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่การกำหนดโดยรัฐบาลกลางที่ขาดความรู้ในบริบทของพื้นที่ ตามความคิดจังหวัดจัดการตนเอง” นายกัณวีร์ กล่าว
