POLITICS

‘ธัญวัจน์’ พร้อมเพิ่มวันประชุม กมธ. เร่งให้ทัน เม.ย. ก่อน สว.เปลี่ยนชุด

‘ธัญวัจน์’ แจงสิทธิ ‘สมรสเท่าเทียม’ ทุกคนทุกเพศควรได้รับ พร้อมเพิ่มวันประชุม กมธ. เร่งให้ทัน เม.ย. ก่อน สว. เปลี่ยนชุด เชื่อเสียงเห็นต่างมีไม่กี่มาตรา อาจสงวนความเห็นไว้ชี้แจงในสภาฯ เพื่อความรวดเร็ว

วันนี้ (3 ม.ค. 67) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับ The Reporters ภายหลังได้รับเลือกเป็นรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) คนที่ 2 ในคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในที่ประชุม กมธ.ฯ ครั้งที่ 1/2566 ณ อาคารรัฐสภา

ธัญวัจน์ กล่าวว่า กมธ.ทุกคนมาด้วยเป้าหมายที่จะทำให้กฎหมายนี้ออกมาเร็วที่สุด จึงอาจลองประชุมไปก่อนสัก 2 – 3 ครั้ง เพื่อพิจารณาดูว่ามีประเด็นอะไรติดขัดบ้าง และคาดหวังให้แล้วเสร็จช่วงเดือนเมษายน เพื่อให้ทันก่อนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปลี่ยนชุด ทั้งนี้เวลาค่อนข้างเบียด เนื่องจากมีการประชุมเพียง 8 ครั้ง จึงอาจต้องลองดูว่า หากประชุมทุกวันพุธแล้วไปยาก ก็อาจเพิ่มวันการประชุมได้ด้วย

ธัญวัจน์ กล่าวว่า แม้มีการเลือกตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะ กมธ. แต่คณะ กมธ. เองก็มีการหารือกันว่า สภาฯ แห่งนี้ควรโอบรับความหลากหลาย เช่น ป้ายชื่อและคำนำหน้านามด้านหน้าที่นั่งในห้องประชุม ซึ่ง กมธ. บางคนอาจไม่สะดวกที่จะใช้คำนำหน้านาม จึงจะเปลี่ยนแปลงให้ด้วย

ส่วนกรณีข้อแตกต่างในร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมแต่ละฉบับนั้น ธัญวัจน์ กล่าวตอบรับว่า หากจะให้เร็ว ผู้ที่ไม่เห็นด้วยในมาตราใด ก็ให้สงวนความเห็น แล้วมีสิทธิชี้แจงเพื่อโน้มน้าวให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบตาม ทั้งนี้ คาดว่ามีเพียงบางมาตราเท่านั้น ไม่ได้มีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมีข้อสงวนใด ๆ ที่บันทึกไว้ในรายงานนั้น ก็ต้องถกเถียงก่อนว่า ทำไมถึงต้องเปลี่ยน หรือไม่เปลี่ยน อะไรกระทบ หรือไม่กระทบ ซึ่งเมื่อถกเถียงเสร็จแล้ว หากในที่ประชุมสภาฯ เห็นพ้องต้องกันได้ ก็ไม่ต้องสงวน แล้วแก้ตามในข้อเสนอได้เลย

ธัญวัจน์ ยังกล่าวย้ำถึงประโยชน์ของร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมว่า คนทุกเพศจะสามารถสมรสกันได้ มีสิทธิและหน้าที่ในฐานะคู่สมรส ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ในการอภิบาลดูแลกัน การลงนามรับการรักษาพยาบาล สวัสดิการคู่สมรสในฐานะข้าราชการ การลดหย่อนภาษี การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การใช้นามสกุล การขอสัญชาติให้คู่สมรส หรือแม้แต่การตั้งครรภ์ทางวิทยาศาสตร์ที่จะต้องแก้ไขต่อไป ซึ่งล้วนเป็นสิทธิที่ทุกคนทุกเพศควรได้รับ

Related Posts

Send this to a friend