POLITICS

‘พ.ต.อ.ทวี’ ยัน ระเบียบราชทัณฑ์ไม่เอื้อ ‘ทักษิณ’ ยัน มีกติกาชัดเจน

‘พ.ต.อ.ทวี’ ยัน ระเบียบราชทัณฑ์ไม่เอื้อ ‘ทักษิณ’ ยัน มีกติกาชัดเจน ย้ำชัด ไม่เกี่ยวนายกฯ – รัฐบาล เหตุ กฎนี้ออกมาก่อนรัฐบาลสมัยนี้ ชี้ ราชทัณฑ์ไม่ใช่สถานที่ฆ่าคน หากป่วยต้องไปรักษา

วันนี้ (3 ม.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลุกขึ้นชี้แจง ภายหลังจากที่ นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในการประชุมร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 ถึงงบประมาณของกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ว่า ตามงบผู้ต้องขังที่ได้รับการดูแลจำนวน 6 ปี ประมาณ 38,000 ล้านบาท ซึ่งนำมาจากแผนยุทธศาสตร์พัฒนากฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยในปีนี้เป็นเงิน 6,600 ล้านบาท ซึ่งนายจุรินทร์ ไม่เห็นด้วยกับระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เพราะในระเบียบดังกล่าวอาจจะไปช่วยเหลือหรือเลือกปฏิบัติกับบางท่าน

พันตำรวจเอกทวี ระบุว่า อย่างแรกที่ต้องเข้าใจตรงกันคือ การเป็นรัฐบาลต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม และรัฐต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ปี 2560 เกิดขึ้นก่อนมีรัฐบาลชุดนี้ และเหตุผลที่เป็นสาระสำคัญที่พูดเสมอว่าจะดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ให้กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด จะมีกฎหมายอื่นสูงกว่าไม่ได้

ดังนั้น กฎหมายราชทัณฑ์ที่มีการแก้จากปี 2479 เพราะกฎหมายเดิมไม่สอดคล้องกับนโยบายอาญาระหว่างประเทศ กฎ และการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับหลักสากล ไม่สามารถจัดการ หรือบริหารนักโทษผู้ต้องขังเฉพาะราย เฉพาะคดีได้อย่างเหมาะสม และไม่สามารถใช้สถานคุมขังประเภทอื่น ไม่สามารถนำระบบพัฒนาพฤตินิสัยกับนักโทษกับราชทัณฑ์ได้ จึงต้องแก้ไขกฎหมายฉบับนี้

พันตำรวจเอกทวี กล่าวต่อว่า ในกฎหมายดังกล่าวมีบทเฉพาะกาลในมาตรา 76 โดยในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงออกมาใช้ ให้ใช้อันเดิมไปพลางก่อน ขอให้ออกให้เรียบร้อยภายใน 90 วัน เหตุการณ์เกิดตั้งแต่ปี 60 การที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามให้เป็นไปตามกฎหมาย จะถือว่าไม่ดำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม เหตุที่ออกมาเพราะต้องการให้บ้านเมืองเป็นไปตามหลักนิติธรรม และเรามีผู้ต้องขังในเรือนจำกว่า 280,000 คน แต่อัตราการคุมขังได้เพียงแค่ 200,000 คน และประเทศไทยถูกตราหน้าว่าเราสอบตก Rule of Law The World Justice Project ที่นำมาวัดประเทศไทย พบว่า ราชทัณฑ์ไทยจากคะแนนเต็ม 1 เราได้คะแนน 0.25 เนื่องจาก ราชทัณฑ์มีจำนวนผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เราไม่สามารถฟื้นฟูหรือแยกการขังได้

“ดังนั้น การที่นายจุรินทร์ ไม่เห็นด้วย ผมไม่รู้ว่าเราอยู่ในประเทศเดียวกันหรือเปล่า เพราะถ้าเราอยู่ในรัฐธรรมนูญเดียวกัน เราต้องธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และที่สำคัญ รัฐธรรมนูญประกาศว่าให้คนเป็นรัฐ ต้องปฏิบัติตาม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด การที่ไปออกระเบียบไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีเลย เพราะกฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ซึ่งมีทั้งหมด 17 คน และมีเพียง 3 คนที่เป็นคนของกระทรวงยุติธรรม” พันตำรวจเอกทวี กล่าว

ส่วนคณะกรรมการท่านอื่น ๆ จะมาจากหลายหน่วยงาน และการจะออกกฎกระทรวงหรือระเบียบ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุดนี้ ดังนั้น กฎกระทรวงออกมาแล้วเมื่อปี 63 แต่ระเบียบเพิ่งออกมา การที่รัฐบาลประกาศว่าจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ถ้าเราไม่แก้ปัญหาราชทัณฑ์ มากลัวโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผมคิดว่าเรากำลังทำลายหลักนิติธรรม

การออกกฎระเบียบนี้ มีเกณฑ์ ที่กฎหมายเขียนไว้คือ 1.กลุ่มที่ปฏิบัติด้วยระบบจำแนก และแยกคุมขัง ซึ่งจะมีงานวิจัยรองรับ และจากตัวเลขที่สอบถามมาจะมี 18,000 คน 2.กลุ่มพัฒนาพฤตินิสัย คือต้องการคนดีกลับเข้าไปสู่สังคม มีอีก 16,000 คน 3.ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยต้องรักษาพยาบาลอีก 7,000 คน และ 4.การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวคืนคนดีกลับสู่สังคม เพราะฉะนั้น จึงเป็นการออกกฎเกณฑ์ ย้ำว่า ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่ได้เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับคณะกรรมการราชทัณฑ์ ที่ผมก็เป็นหนึ่งในกรรมการที่เป็นประธาน

“ส่วนกระแสที่มองว่ากรมราชทัณฑ์เลือกปฏิบัติราชทัณฑ์ไม่ใช่สถานที่ฆ่าคน ทรมานคน ถ้าใครเจ็บป่วยก็ต้องไปรักษา โดยการไปรักษาไม่ใช่แค่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ยังมีอีกหลายคนที่ไปรักษา มองว่านายทักษิณ เป็นนักสร้างสันติภาพ แม้ก่อนน่าจะไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่วันนี้เมื่อต้องการให้บ้านเมืองมีสันติภาพ มีสันติสุข มีความปรองดอง ท่านก็กลับเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม และอาการป่วยของท่านก็เกิดก่อนรัฐบาลนี้เข้ามา” พันตำรวจเอกทวี กล่าว

พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่ากฎหมายนี้ให้ความสำคัญกับแพทย์สูงสุด และพบว่ากรณีผู้ไปรักษาตัวในโรงพยาบาล นอกเหนือจากเรือนจำ ที่นั้นก็คือเรือนจำ เพราะเป็นห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ซึ่งถือว่าเป็นการเสียอิสรภาพแล้ว และจากการสอบถามแพทย์ ยืนยันว่า นายทักษิณป่วยจริง ส่วนการพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเกิน 120 วัน จะให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ โดยมีเหตุผลร่วมกับแพทย์ผู้รักษา

“ผมจะไม่ทำอะไรนอกกฎหมาย และผมจะเข้มแข็ง ถ้าใครก็ตามที่เป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างไร กระทำการฝืนกฎหมาย หรือกระทำผิด จะต้องถูกดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา” พันตำรวจเอกทวี กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend