POLITICS

‘ประชาชาติ-ก้าวไกล’ รุดเยี่ยม ‘ไครียะห์’ เตรียมยื่นเรื่องถึง กมธ.การมีส่วนร่วมฯ พรุ่งนี้

‘ประชาชาติ-ก้าวไกล’ รุดเยี่ยม ‘ไครียะห์’ เตรียมยื่นเรื่องถึง กมธ.การมีส่วนร่วมฯ พรุ่งนี้ ‘ทวี-เบญจา’ ย้ำ รัฐต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม

วันนี้ (2 ธ.ค. 64) เวลา 16:00 น. ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนจาก อ.จะนะ จ.สงขลา นั่งหน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นวันที่ 4 แล้ว เพื่อทวงคำสัญญากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับ MOU ที่นายกฯเคยลงนามกับชาวบ้านจะนะไว้เมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวกับการชะลอการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตั้งคณะกรรมการประเมินยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม (SEA) และทบทวนบทบาทการทำงานของศูนย์อำนวยบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งไครียะห์ บอกว่าที่ผ่านมายังไม่เห็นความคืบหน้าจากคำสัญญาดังกล่าว 

มีแต่ความขัดแย้งและความพยายามผลักดันโครงการเกิดขึ้นในพื้นที่ มีการรวมมวลชนขับไล่ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น และล่าสุดมีกำหนดการส่งถึงผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ ว่าวันที่ 13-23 ธันวาคมนี้ จะมีการทำประชาพิจารณ์เพื่อประกอบการประเมิน EIA 2 ฉบับ และ EHIA อีก 2 ฉบับ จึงต้องการถามถึงนายกรัฐมนตรีว่ามันเกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างไรในเมื่อรัฐบาลมีคำสั่งชะลอไปแล้ว บุคคลใต้บังคับบัญชาฝ่าฝืนคำสั่งหรือไม่ 

สิ่งที่นำเสนอคือความเป็นกลางที่สุด การตั้งคณะกรรมการ SEA คือการคุยกันด้วยหลักวิชาการและข้อเท็จจริง คิดว่าจะสลายความขัดแย้ง และตกลงกันด้วยเหตุผลได้ จึงต้องการทวงถามสัญญา ให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการด้วย

จากนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคน เดินทางมาให้กำลังใจ ไครียะห์ ระหมันยะ นำโดย พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และ ส.ส.ในจังหวัดภาคใต้ของพรรคประชาชาติ รวมถึง ส.ส.จากพรรคก้าวไกล นำโดย ประเสริฐพงศ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อม ส.ส.พรรคก้าวไกล รวม 5 คน

พล.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประชาชน มีประชาชนบางส่วนที่เห็นด้วยและส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย รัฐบาลไปตกลงกับชาวบ้านไว้ เป็นโครงการใหญ่ต้องศึกษาว่าการพัฒนาจะเกิดผลประโยชน์อย่างไร แต่ปรากฏว่า พอถึงเวลาก็ไม่ทำตามสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเผด็จการหรือสังคมประชาธิปไตย สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีสัจจะ ถ้าความมีสัจจะที่มาจากรัฐบาลไม่มี จะนำไปสู่ความล้มเหลวและขาดความเชื่อถือต่อรัฐบาล

สิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือสิ่งที่คุณไปพัฒนาต้องใช้ทรัพยากรที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีทั้งทะเลมีทั้งที่พหุวัฒนธรรมที่มีคุณค่า จึงฝากถึงรัฐบาล ให้เอาเรื่องนี้มาพูดกันอย่างเปิดเผย และให้ทุกคนมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมเท่านั้น ที่จะสามารถทำให้คนยอมรับ

ด้าน เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกล ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาผลกระทบจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งผลจากการพิจารณา เราเห็นเลยว่าโครงการนี้นอกจากจะไม่มีการความคุ้มทุนแล้ว ยังขาดกระบวนการการมีส่วนร่วม และจากผลการพิจารณาเราได้สรุปไว้ว่า ขอให้มีการกลับไปทบทวนโครงการใหม่ ทบทวนผลประมาณการในเรื่องการทำโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ภาคใต้ เพราะในภาคใต้มีนิคมอุตสาหกรรมอื่นอยู่แล้ว 

การมาทำนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มไปอีกพื้นที่หนึ่ง จะมีความคุ้มทุนหรือไม่ ซึ่งตรงนี้มีผลการพิจารณาออกมาแล้วว่าไม่คุ้มทุน จึงอยากให้รัฐบาลได้พิจารณาถึงเรื่องนี้ ชะลอโครงการนี้ออกไปก่อน และทบทวนกระบวนการของโครงการใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น

ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (3 ธันวาคม 2564) ไครียะห์ จะไปยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ในเวลา 10:00 น. ที่รัฐสภา เพื่อให้ช่วยติดตามกรณีดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

Related Posts

Send this to a friend