POLITICS

‘ชัชชาติ’ หวังแก้งบจัดการขยะที่สูงถึงหมื่นล้านด้วยแปลงผักดาดฟ้า-เกษตรอินทรีย์

‘ชัชชาติ’ หวังแก้งบจัดการขยะที่สูงถึงหมื่นล้าน ด้วยแปลงผักดาดฟ้า-เกษตรอินทรีย์ ตั้งเป้าสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ กทม.

วันนี้ (2 เม.ย. 65) เวลา 13:00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดเทศกาล “หมุนเวียน/เปลี่ยเมือง” (Circular Urban Farm Fair) ตอน “ชอบจึงหมัก รักจึงปลูก” และร่วมเสวนาในหัวข้อ “มุมมองขยะกรุงเทพมหานคร สู่เส้นทางการหมุนเวียน/เปลี่ยนเมือง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการการประกอบการเกษตรอินทรีย์ในเมืองบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

นายชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะมากถึง 3.2 ล้านตันต่อปี แต่ละปีต้องใช้งบประมาณในการจัดการขยะถึง 11,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ มีพื้นที่ว่างมากถึง 120,511,643.05 ตารางเมตร หรือประมาณ 7,000 ไร่ และมีพื้นที่ว่างบนดาดฟ้าอีก 2,810 อาคารที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ได้ การใช้พื้นที่จำกัดของกรุงเทพฯ ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Green City และเป็นโอกาสอันดีที่จะใช้พื้นที่ว่างในกรุงเทพฯ ในการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง และปัญหาพื้นที่ฝังกลบ ซึ่งสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

นายชัชชาติ ตั้งโจทย์ว่าการแยกขยะมีผลต่อการศึกษาของเด็กนักเรียน โดยการชี้แจงว่า งบประมาณของ กทม. ในการจัดการขยะนั้นมากกว่าเงินที่ให้การศึกษาเด็กถึง 3 เท่า ที่ควรได้รับการจัดสรรกันใหม่

“เมืองมันน่าจะเปลี่ยนไปได้ หากทุกคนช่วยแยกขยะ ปลูกผักอินทรีย์ สร้างแหล่งอาหารด้วยกัน พร้อมทั้ง กทม. ต้องลงทุนในระบบโลจิสติกส์ในการเก็บขยะ ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้ต้นทุนในการเก็บขยะนั้นลดลง” นายชัชชาติ กล่าว

นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังกล่าวถึงกิจกรรมที่โครงการทำนั้นช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทุกมิติ การลดการขนส่งจากตลาดไทเป็นแปลงผักบนหลังคาในเมืองก็ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ อุณหภูมิในตึกก็จะเย็นขึ้น และใช้พลังงาน ทุกมิติมันช่วยเรื่องก๊าซเรือนกระจก จึงมีโครงการแนะนำว่า 1 ชุมชน 1 แปลงเกษตรอินทรีย์

“กทม. ต้องเอาจริงเอาจัง เพราะมันไม่ใช่เรื่องแยกขยะ แต่มันกระทบในทุกมิติ” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ ยังกล่าวไปถึงนโยบายสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กรุงเทพฯ ว่า ความมั่นคงอาหารเป็นเรื่องสำคัญ หากสามารถจัดอาหารใน 15 นาทีสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ ก็จะทำให้มีความมั่นคงทางอาหารได้มากขึ้นโดยไม่ต้องรอสินค้าจากตลาดหรือจุดขายส่งชานเมือง นายชัชชาติ แนะนำว่า กทม. ควรมีแอพพลิเคชั่นกลางทั้งอนาล็อกและดิจิทัล ที่พ่อค้าคนกลางส่งราคากลางมาทุกเช้า และกรอกยอดปริมาณสินค้าตลาดกลางให้ได้

“กทม. ต้องใช้ผักของตัวเองก่อน ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ก่อนที่จะไปขนส่งมาจากที่อื่น แล้วผมคิดว่ามันจะมีประโยชน์ตามมาหลายอย่าง ทั้งความเป็นสีเขียว และการศึกษาสำหรับเด็ก” นายชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ เทศกาล “หมุนเวียน/เปลี่ยนเมือง” (Circular Urban Farm Fair) ตอน “ซอบจึงหมัก รักจึงปลูก” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม -10 เมษายน 2565 เวลา 11.00- 17.00 น. โดยกิจกรรมเสวนาจัตขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 เมษายน มีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายวงการเข้าร่วมงาน จัดโดยสมาคมเครือช่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The NETWORK) โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในเขตเมืองได้ตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวจากการหมักเศษขยะอินทรีย์ให้เป็นสารปรุงดินเพื่อมาปลูกผัก ซึ่งถือเป็นเนื้อหาหลักที่โครงการได้มุ่งเน้น เพื่อลดปริมาณขยะอินทรีย์ออกสู่สาธารณะ และเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนเพิ่มความมั่นคงทางอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืนให้แก่คนเมือง ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเwจ Circular Urban Farming – หมุนเวียน/เปลี่ยนเมือง

Related Posts

Send this to a friend