POLITICS

ต่างชาติฮิตเลี้ยงปลาสวยงามไทย ส่งออกต่อปี 700 ล้าน ติด TOP 5 ผู้ส่งออกโลก

วันนี้ (1 มิ.ย. 65) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรไทย พัฒนาศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำสวยงามที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก และผลักดันธุรกิจนำไปสู่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสัตว์น้ำสวยงามระดับโลก ว่า ปัจจุบันกรมประมงสามารถพัฒนาเทคนิคการเพาะขยายพันธุ์ปลาสวยงามพื้นเมืองของไทยได้เป็นผลสำเร็จ และมีนโยบายในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรได้มีการเพาะเลี้ยงเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ลดการจับจากธรรมชาติ ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรปลาสวยงามไทยให้ยังคงอยู่และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง

สำหรับปลาสวยงามที่ผลิตในประเทศไทย ที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ เช่น ปลากัด ปลาหางนกยูง ปลาทอง ปลาหมอสี ปลาปอมปาดัวร์ เป็นต้น เป็นปลาที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยงของเกษตรกร มีมูลค่าการส่งออกปลาสวยงามมากกว่า 700 ล้านบาท/ปี

ขณะที่ปลากัดไทย ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 มีการผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ปีละไม่น้อยกว่า 20 ล้านตัว มูลค่าการส่งออกปีละกว่า 200 ล้านบาท โดยประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 5 ของโลก รองจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ สเปน และอินโดนีเซีย มีส่วนแบ่งในตลาดโลกคิดเป้นร้อยละ 7.38

สำหรับปลาสวยงามพื้นเมืองของไทย นอกจากปลากัด ปลาทรงเครื่อง ปลาลูกผึ้ง ปลากาแดง ปลาหางไหม้ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกแล้ว ยังมีปลาที่ได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศอีกหลายชนิด ที่ไม่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง แต่ได้จากการจับและรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วนำส่งขายในตลาดต่างประเทศ เช่น ปลาก้างพระร่วง (ส่งออกมากกว่า 1 ล้านตัว/ปี มูลค่า 8.7 ล้านบาท/ปี) และปลาซิวข้างขวาน (ส่งออกเกือบ 1 ล้านตัว/ปี มูลค่า 3.5 ล้านบาท/ปี) ทำให้ในแหล่งน้ำธรรมชาติมีปลาเหล่านี้จำนวนลดลงอย่างรวดเร็วและอยู่ในสถานภาพสุ่มเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์

Related Posts

Send this to a friend