POLITICS

’พิธา’ หนุนนิรโทษกรรม ย้อนถึงคดีปี 2549 แสวงหาข้อเท็จจริง คืนผู้ลี้ภัยกลับมาตุภูมิ

วันนี้ (1 ก.พ. 67) ที่อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ

นายพิธา กล่าวว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยและไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวเสมอไป ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ประเทศไทยเคยนิรโทษกรรมมาแล้วทั้งหมด 22 ครั้งด้วยกัน และถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะนิรโทษกรรมเพื่อลดความขัดแย้งในสังคม เพิ่มเสถียรภาพให้กับการเมือง ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ คืนพ่อให้กับลูกสาวที่ยังเล็กได้ เพื่อให้คนที่อยู่ในต่างประเทศที่มีความเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกับรัฐกลับมาสู่มาตุภูมิประเทศของเขา ตนจึงคิดว่าการนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือมีภาพที่เป็นลบตลอดเวลา

นายพิธา มองว่า โอกาสในการรับนิรโทษกรรม ไม่ควรผูกขาดกับคณะรัฐประหาร หรือคนที่คิดที่จะล้มล้างการปกครองเพียงอย่างเดียว ไม่ควรที่จะผูกขาดกับคนที่จะบ่อนเซาะ ต้องการที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว

ก่อนที่นายพิธาจะหยิบเอกสารจากสภาฯ ขึ้นมาอ้างอิง พร้อมระบุว่า ตั้งแต่ปี 2475 – 2557 ไม่ว่าจะครั้งไหน มีเพียงแค่ 2521 ครั้งเดียวที่เป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่นอกจากนั้นจะมีแต่นิรโทษกรรมผู้กระทำการปฏิวัติ ยึดอำนาจปกครองประเทศ ความผิดต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรในฐานะกบฏ นี่คือสิ่งที่เราไม่ควรอนุญาตให้การผูกขาดการนิรโทษกรรมอยู่กับการรัฐประหารเพียงอย่างเดียว

“การนิรโทษกรรมไม่ใช่แค่เรื่องการให้พ้นผิดทางกฎหมาย ภาษาอังกฤษ คือ Amnesty มาจากภาษากรีก แปลว่า ทำให้ไม่ต้องจำ ทำให้ลืมไป ผมคิดว่าประเทศไทยต้องก้าวผ่านเรื่องแค่การพ้นผิดทางกฏหมายเพียงอย่างเดียว เราควรที่จะคิดเรื่องนี้ว่าเป็นโอกาสสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เราควรมีการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้น ทำให้เกิดการเสาะหาข้อเท็จจริงมากขึ้น รวมถึงการรับผิดชอบต่อสาธารณะ จึงจะทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นในชาติได้จริง” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า นี่จึงเป็นโอกาสที่สังคมไทยจะก้าวเกินกว่าแค่เรื่องการนิรโทษกรรม เพราะเป็นแค่จุดหนึ่งเท่านั้นในการจะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองประเทศไทยลดน้อยลง มีเสถียรภาพและมีสมาธิพอที่จะใช้พลังของพวกเราในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องการศึกษาก็ตาม

เราต้องยอมรับก่อนว่า เราอยู่ในช่วงความขัดแย้ง ทางการเมืองไทย อย่างน้อยนับแต่การทำรัฐประหาร 19 กันยายน สร้างบาดแผล ร้าวลึก กับสังคมไทยตั้งแต่สงครามสีเสื้อ จนถึงการลุกขึ้นเรียกร้องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ นำไปสู่ 10 กว่าปีที่สูญหาย ตั้งแต่ปี 2549 – 2567 การเมืองไทยประสบพบผ่านนายกรัฐมนตรี 7 คน รัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ม็อบใหญ่ต้านรัฐบาล 9 ระลอก การประทะปราบปรามสลายม็อบ 5 ยก คนล้มตายเรือนร้อย บาดเจ็บเรือนพัน เศรษฐกิจเสียหายหลายแสนล้านบาท

เพราะฉะนั้นการนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะต้องไม่คิดเฉพาะคนที่ทำรัฐประหาร แต่ควรคิดถึงเหยื่อ คนที่ถูกทำรัฐประหาร เราต้องคิดถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจากรัฐบาลที่สืบทอดมาจากการทำรัฐประหาร ไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้ออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่ยังมีเรื่องอื่น เช่น การติดคุกจากคดีทวงคืนผืนป่า หรือคนที่ถูกรัฐฟ้องปิดปาก

นายพิธา กล่าวว่า กระบวนการที่จะทำไม่ใช่แค่บอกว่ายุติคดีทางอาญา แต่คือการเยียวยา การออกมารับผิดชอบต่อสาธารณะ ไม่ให้เกิดวัฒนธรรมผิดลอยนวล ไม่ใช่แค่นิรโทษกรรมของคนที่สั่งฆ่า แต่จะต้องดูคนที่ถูกฆ่าด้วย พูดในมุมของคนที่ต้องสูญเสียอิสรภาพในการอยู่ในประเทศบ้านเกิดเมืองนอนเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นการนิรโทษกรรมที่รอบคอบ บรรลุไปถึงเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการในปัจจุบัน

Related Posts

Send this to a friend