POLITICS

กลุ่มประมงพื้นบ้านฯ ยื่นข้อกังวล ต่อ สภาฯ กรณีแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ประมง

กลุ่มประมงพื้นบ้านฯ เข้ายื่นข้อกังวล ต่อการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ประมง หวั่น สภาฯแก้กฎหมายอุ้มนายทุน ทำร้ายคนจน

วันนี้ (28 มี.ค. 67) สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายพงษ์สรณัฐ ทองลี เลขานุการ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และ นายวรภพ วิริยะโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและเสนอแนะการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการประมงให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการประมงและกิจการประมงทั้งระบบคนที่ 2 รับฟัง และนำข้อกังวลของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านส่งต่อไปยังประธานสภาฯ และ ที่ประชุม กมธ. การวิสามัญฯ ต่อไป

นางสาวปิยะดา เด็นเก ในฐานะเลขาธิการสมาคมสตรีประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่าหลังสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. … และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญส่งไปถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญฯนั่น จากร่างกฎหมายที่มีการเผยแพร่รับฟังความเห็นของรัฐสภา และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ทางกลุ่มจึงได้มีข้อกังวลในประเด็นดังต่อไปนี้ คือ

1.มีการยกเลิกข้อกำหนดวัตถุประสงค์ “เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น” จึงเสนอ คือ ให้ยังคง เนื้อหาใน มาตรา 4 (2) ที่ให้คุ้มครอง สนับสนุน ช่วยเหลือประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น ไว้เช่นเดิม

2.มีการกำหนดให้สามารถลดเขตทะเลชายฝั่งลงได้อีกให้น้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเล ซึ่งเท่ากับ เปิดให้ประมงพาณิชย์สามารถเข้ามาทำการประมงใกล้เขตทะเลชายฝั่งมากขึ้นำให้พื้นที่สำหรับอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนลดลงจนส่งผล ต่อปริมาณสัตว์น้ำ และส่งผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการอนุรักษ์ทรัพยากร และทำการประมงด้วยเครื่องมือศักยภาพต่ำ

3.มีการกำหนด ให้กรรมการภาคประชาชนในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด มาจากการแต่งตั้ง สนอให้ มีกลไกการ สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดใหม่ และกระจายอำนาจให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัดกำหนดแผนการจัดการทรัพยากรประมงระดับจังหวัดบนฐานข้อมูล ระบบนิเวศน์ในพื้นที่ และควรกำหนดเขตรับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดให้ครอบคลุมพื้นที่อย่างน้อย 12 ไมล์ทะเล

4.มีการเปิดช่องให้กลุ่มทุนประมงพาณิชย์ สามารถแทรกแซงครอบงำ “ประมงพื้นบ้าน” ป็นประมงพาณิชย์กลายเป็น “ประมงพื้นบ้าน” แทน พวกเราซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นที่แท้จริง ในร่างกฎหมายที่จะแก้ไขได้กำหนดให้มีใบอนุญาตประมงดังกล่าว ได้โดยไม่จำกัดจำนวน โดยจงใจ ตัดคำ ข้อความ ว่าจะออกใบอนุาตให้แก่บุคคลใดเกินจำนวนที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดมิได้

5.ร่างกฎหมาย มีลักษณะ เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ต้องการละเมิดกฎหมาย ทำลาย กอบโกยทรัพยากรธรรมชาติ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยค่าปรับในการทำผิดให้น้อยลง และให้ประกันเรือออกไปทำประมงผิดได้ซ้ำอีก โดยไม่ต้องถูกกักไว้ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบต่อทรัพยากร

นางสาวปิยะดา กล่าวว่า การออกกฎหมายลักษณะนี้ เรา อดน้อยใจ อดคิดไม่ได้ว่า หรือสุดท้ายแล้วสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเต็มภาคภูมิ กลับออกกฎหมายอุ้มนายทุนคนรวยทำร้ายคนยากคนจน จึงอยากถือโอกาสนี้ เสนอแนะความคิดเห็นบางส่วนและ หวังว่าสภาผู้แทนราษฎร จะไม่ทอดทิ้งประชาชนชาวประมง ให้โอกาสได้เสนอความเห็นในโอกาสต่อไป

นายวรภพ กล่าวว่า จะนำข้อกังวลทุกข้อเข้าไปนำเสนอ สู่คณะกรรมาธิการฯ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนที่สามารถปรับเปลี่ยน ปรับปรุงให้เหมาะสมได้วันนี้จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการรับฟังพูดคุยร่วมกัน เพื่อแก้ไขกฎหมายประมงครั้งนี้เพื่อนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวประมงให้ดีขึ้น พร้องผลัดดันอย่างเต็มที่

Related Posts

Send this to a friend