POLITICS

“อนุทิน” ชี้ มติ คณะกรรมการวัตถุอันตรายฯ เลื่อนแบนสารพิษ ไม่กระทบเรือเหล็ก แต่ยอมรับ “ผิดหวัง” (มีคลิป)

ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ออกประกาศกำหนดให้วัตถุอันตราย “พาราควอต” และ “คลอร์ไพริฟอส” เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 จากเดิม 1 ธันวาคม 2562 ส่วนวัตถุอันตราย “ไกลโฟเซต” ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข เปิดเผยว่า ทราบว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการเปลี่ยนแปลงมติเดิม แต่อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะคณะกรรมการในสัดส่วนของกระทรวงสาธารณสุขยังคงยืนยันให้มีการแบนสารเคมี ทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว

ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจาณณ์ว่ามตินี้อาจจะมีผลต่อการพิจารณาในการร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทยนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการพิจาณาของคณะกรรมการแต่ละท่านซึ่งมีอิสระ เพียงแต่ว่าจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขคือ อะไรที่มีปัญหาต่อสุขภาพ ต่อชีวิตประชาชน เราเห็นชอบด้วยไม่ได้

“เราต้องให้เกียรติ เพราะคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดนี้ มีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ก็ต้องไปฟังท่านแถลง ส่วนกระทรวงสาธารณสุขก็สุดซอยแล้ว รัฐมนตรีมนัญญา ไทยเศรษฐ์ ก็สุดซอยแล้ว ทำเต็มที่เพื่อปกป้องสุขภาพ รักษาชีวิตพี่น้องประชาชน แต่ทั้งหมดมันมีกระบวนการการลงมติกัน ฝ่ายเสียงข้างน้อยก็ต้องทำตามกฎหมาย” นายอนุทินกล่าว

เมื่อถามว่า ผิดหวังหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่า เรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจสำคัญกว่าชีวิตคน นายอนุทิน ระบุว่า ก็รู้สึกผิดหวัง ถ้าหากมีกฎหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจหักล้างมติวันนี้ ตนก็จะเซ็นตอนนี้เลย แต่มันทำไม่ได้

นอกจากนี้นายอนุทิน ยังได้ย้ำอีกด้วยว่าเรื่องการแบนหรือไม่แบนสารพิษไม่ใช่นโยบายรัฐบาล เพราะคณะกรรมการมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่ใช่ผู้แทนจากราชการเพียงอย่างเดียว เขาออกมติมาแบบไหนเราก็ต้องยอมรับ ถ้าไม่ยอมรับก็แปลว่าเราไม่เคารพกฎหมาย เราได้แสดงเจตนาของเราแบบนี้ ในเมื่อเห็นเป็นอย่างอื่น เราก็ต้องกลับมาทำหน้าที่เดิม ก็คือกระทรวงสาธารณสุขพร้อมที่จะรักษาผู้ป่วยต่อไป

“เรื่องนี้จะไม่ใช่รูเล็กๆ ที่ทำให้เรือเหล็กล่ม เพราะผมมีช่างอ๊อก จบวิศวกรรมโลหะ เรื่องจุดยืนของพรรคร่วมแต่ละพรรคจะเห็นต่างก็ไม่เป็นไร เพราะแต่ละกระทรวงมีภารกิจและมุมมองต่างกัน กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงเกษตรฯ ก็มีมุมมองอีกอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของสาธารณสุขจากนี้ ต้องรณรงค์ให้เกษตรกรระวังมากขึ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสมากขึ้น ใช้ตามคำแนะนำเพิ่มมากขึ้น และขอให้โชคดี อโรคยา ปรมาลาภา”

Related Posts

Send this to a friend