POLITICS

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7:2 ว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือหุ้น วี-ลัค มีเดีย ให้พ้นสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยในคดีถือครองหุ้นบริษัทวี-ลัค มีเดีย ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง วินิจฉัยให้สมาชิกภาพของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า

ไม่ปรากฎหลักฐานว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้จดแแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์ โฆษณาตามพรบ.จดแจ้งการพิมพ์ก่อนวันที่ 6 ก.พ.62 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งรายชื่อส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ แม้จะอ้างว่าได้ยกเลิกกิจการและเลิกจ้างพนักงาน รวมทั้งได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงของนายจ้างต่อสำนักงานประกันสังคมเรื่องการหยุดกิจการชั่วคราวไปแล้ว แต่บริษัทฯยังสามารถกลับมาประกอบกิจการเมื่อไหร่ก็ได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้จดแจ้งยกเลิกการพิมพ์ ดังนั้นจึงถือว่าบริษัทฯคงยังเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่

ส่วนการโอนหุ้นที่อ้างว่า ได้โอนหุ้นให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มค.62 ศาลฯเห็นว่า จากพยานหลักฐานไม่ปรากฏการส่งสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เหมือนปกติที่เคยปฏิบัติมา ทั้งๆที่การโอนหุ้นครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญต่อการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายธนาธร การชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า เพราะเป็นการโอนหุ้นภายในครอบครัวประกอบกับบริษัทได้เลิกจ้างพนักงานทั้งหมดไปแล้ว จึงไม่มีพนักงานจัดทำเหมือนครั้งก่อนๆ แต่ขัดแย้งกับคำเบิกความของนางลาวัลย์ จันทร์เกษม เจ้าหน้าที่ของบริษัทที่บอกว่าสามารถทำได้ถ้ามีคำสั่งให้ทำ นอกจากนี้ในส่วนของการเรียกเก็บเงินตามเช็คก็แตกต่างจากที่ผ่านมา โดยทิ้งระยะเวลานานกว่า 4 เดือน ซึ่งภรรยานายธนาธรเบิกความว่า ไม่สะดวกนำเช็คไปเรียกเก็บเงินเพราะต้องดูแลลูกที่ยังเป็นทารก และในขณะนั้นนายธนาธรถูกกล่าวหาเรื่องนี้ ทนายความจึงรวบรวมไว้เป้นพยานหลักฐานเพื่อใช้ไปให้ปากคำ โดยได้รับเช็คกลับคืนมาในเดือนพฤษภาคม แต่ข้อความดังกล่าวก็ขัดแย้งกับการให้ปากคำของนายธนาธรเองที่ชี้แจงต่อเลขาฯกกต.ว่าได้ส่งเป็นสำเนาเช็คให้กกต.เท่านั้น ข้ออ้างเรื่องนี้ศาลฯจึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือได้ โดยสามารถมอบอำนาจให้คนอื่นไปทำแทนได้ ไม่ต้องรอเวลาถึง 4 เดือน

นอกจากนี้การโอนหุ้นแบบไม่มีค่าตอบแทนระหว่างนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจกับนายทวี จรุงสถิตย์พงศ์ หลานชายนางสมพร โดยอ้างว่าเป็นเครือญาติกันนั้น ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าว่ามีการโอนหุ้นกันจริงหรือไม่

ส่วนข้อชี้แจงของนายธนาธรที่ระบุว่า ได้เดินทางกลับจากบุรีรัมย์เพื่อโอนหุ้นในวันที่ 8 ม.ค.นั้น จากพยานหลักฐาน รับฟังได้เพียงว่านายธนาธรอยู่ในกทม.เมื่อวันที่ 8 เท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีการโอนหุ้นในวันนั้นจริง

ดังนั้นในคดีนี้ศาลพบพิรุธหลายประการประกอบกับพยานแวดล้อม สามารถหักล้างพยานหลักฐานนายธนาธรได้ ศาลฯจึงเห็นว่านายธนาธรยังคงถือหุ้นอยู่ในบริษัทซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่ 6 กพ.62 ซึ่งเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครสส.แบบบัญชีรายชื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ. จึงถือสมาชิกภาพการเป็นส.ส.ของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ม.101ประกอบ ม.98 นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 23 พค.62 และให้เลื่อนอันดับส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับถัดไปขึ้นมาแทน

Related Posts

Send this to a friend