POLITICS

“พรรคประชาชาติ” ห่วงการตรวจสอบอัตลักษณ์ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้

พรรคประชาชาติเป็นห่วงการตรวจสอบอัตลักษณ์ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายซิมมือถือจะเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดกฏหมายรัฐธรรมนูญ ย้ำเข้าใจการแก้ปัญหาความมั่นคงแต่หากจะดำเนินการต้องบัญญัติเป็นกฏหมายไม่ใช่อ้างระเบียบ กสทช. เตรียมให้ฝ่ายกฏหมายพิจารณาหาแนวทางเสนอในที่ประชุมสภาฯวันอังคารนี้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยถึง กรณีที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ส่งข้อความให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อ.จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา ระบุว่า

“กอ.รมน.ภาค4 ขอให้ผู้ใช้บริการใน3จว.ชายแดนใต้+4อำเภอสงขลา ลงทะเบียนซิมด้วยระบบตรวจสอบใบหน้า/อัตลักษณ์ ภายใน 31ต.ค.62 เช็กสถานะซิม กด*165*5*เลขบัตรปชช.# โทรออก หากไม่ดำเนินการในวันที่กำหนด จะไม่สามารถใช้บริการได้ฟังข้อมูลเพิ่มเติมกด*915653 ภาษายาวีกด*915654”

เลขาธิการพรรคประชาชาติ เห็นว่า การบังคับให้ประชาชนลงทะเบียนซิมโทรศัพท์ และบังคับให้สแกนใบหน้าและอัตลักษณ์นั้น มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าอาจต้องทบทวนอย่างละเอียดว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ แม้จะอ้างระเบียบ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ตาม

ข้อความที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ส่งถึงผู้ใช้บริการโทรศัพท์มืิอถือในพื้นที่ชายแดนใต้

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ย้ำว่า พรรคประชาชาติสนับสนุนให้แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหลักนิติธรรม สนับสนุนให้หน่วยงานด้านความมั่นคง บูรณาการทำงานร่วมกับภาคประชาชน เพื่อความสงบสุขของพื้นที่ โดยปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดบุคคลทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองและถูกบังคับใช้กฏหมายอย่างเสมอภาค กรณีการบังคับลงทะเบียนซิมโทรศัพท์และพิสูจน์อัตลักษณ์นั้น มีประเด็นน่าจะขัดรัฐธรรมนูญหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 26 การจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจะกระทำไม่ได้เว้นแต่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมาตรา 36 เสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกัน การกระทําด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และเห็นว่า ระเบียบ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่ใช่กฎหมาย และมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมาย

พันตำรวจเอกทวี เห็นว่าถ้า กอ.รมน หรือรัฐ มีความจำเป็นตรวจสอบใบหน้า/อัตลักณ์ จากซิมมือถือ รัฐบาลต้องบัญญัติเป็นฏหมายโดยให้รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ(ประกอบด้วย ส.ส.จำนวน 500 คน และ ส.ว.จำนวน 250 คน ) เพื่อได้ร่วมกันพิจารณาบัญญัติเป็นกฏหมาย ตามรัฐธรรมนูญต่อไป

อนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าระเบียบ กสทช.มาตรา 26 ระบุว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผล ความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย

กฏหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้บังคับใช้แก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

มาตรา 36 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าทางใดๆ การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

พันตำรวจเอกทวี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้มีการสอบถามมาจากประชาชนจำนวนมากว่าจะกระทบสิทธิมนุษยชนหรือไม่ พรรคประชาชาติ จะนำประเด็นดังกล่าวให้คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ที่ปรึกษา, พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ที่ปรึกษา, นายวิทยา พานิชพงศ์ ที่ปรึกษา และนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ เป็นประธานคณะทำงาน มีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรวม 10 ท่านเป็นคณะทำงาน ได้พิจารณาเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมผู้บริหารพรรคประชาชาติ ผลการประชุมจะส่งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร หรือ ส.ส. ของพรรคได้เป็นข้อมูล ใช้ในสภาผู้แทนฯ และนำไปประสานกับหน่วยงานรัฐ กอ.รมน และประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนต่อไป

ปัจจุบันมีผู้รณรงค์รายชื่อขอยกเลิกการลงทะเบียนซิมและสแกนใบหน้าผ่านเว็บไซต์ change.org
http://chng.it/p446qksBBL

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Send this to a friend