INVESTMENT

FSMART โชว์ผลงาน 9 เดือน ธุรกิจทำรายได้รวม 1,527 ล้านบาท สร้างกำไร 221 ล้านบาท

บมจ.ฟอร์ท สมาร์ทฯ เจ้าของธุรกิจเครือข่ายอัตโนมัติ และการเงินครบวงจร “บุญเติม” และผู้ให้บริการเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “GINKA Charge Point” ประกาศผลงาน 9 เดือน ทำรายได้ 1,527 ล้านบาท กำไร 221 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 3 รายได้ 507 ล้านบาท กำไร 69 ล้านบาท ย้ำช่วงที่เหลือของปีนี้ เน้นเพิ่มขีดความสามารถของทุกกลุ่มธุรกิจ ผลักดันยอดใช้บริการให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา

ทั้งเพิ่มตัวแทนเคาน์เตอร์แคชเชียร์ และเร่งปั๊มเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า GINKA ติดตั้งตามแผนให้ได้ 200 จุดปีนี้ ก่อนขยายการติดตั้งเป็น 5,000 จุดใน 1 ปี พร้อมกันนี้ ชู 2 โมเดล ร่วมลงทุน ขายเครื่อง พร้อมระบบผ่านตัวแทนจำหน่าย และลุยเปิดสถานี EV และคาเฟ่อัตโนมัติเต่าบิน ที่มีอาหารและเครื่องดื่มแบบบริการด้วยตนเอง ให้ได้ใช้บริการเร็วๆ นี้

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “FSMART” เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 507 ล้านบาท กำไรสุทธิ 69 ล้านบาท มูลค่าการทำรายการรวม 8,128 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนบริษัทมีรายได้รวม 1,527 ล้านบาท กำไรสุทธิ 221 ล้านบาท โดยรายได้และกำไรมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจหลักเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ กลุ่มธุรกิจการเงินและสินเชื่อครบวงจร ที่มีจำนวนรายการฝาก-โอนเงิน ผ่านตู้บุญเติม 4.15 ล้าน รายการในไตรมาสนี้ ขณะเดียวกันบริษัทยังคงได้รับส่วนแบ่งกำไร จากการถือหุ้นบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด “ตู้เต่าบิน” ในสัดส่วน 26.71% อีกด้วย

สำหรับการดำเนินงานในไตรมาส 4 บริษัทมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อช่วยผลักดันยอดใช้บริการผ่านระบบบุญเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มธุรกิจหลักเติมเงิน-รับชำระเงินอัตโนมัติ ที่นอกจากจะรักษายอดเติมเงิน และบริการรับชำระเงินแล้ว ยังเพิ่มฟังก์ชันให้กับตู้บุญเติม หรือเพิ่มจำนวนช่องทางบริการฝาก-โอน-ถอน ผ่านเคาน์เตอร์แคชเชียร์ โดยเพิ่มพาร์ทเนอร์ใหม่เพื่อบริการที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มธุรกิจการเงิน และสินเชื่อครบวงจรที่เป็นตัวแทน 8 ธนาคาร ทั้งฝาก ถอน เปิดบัญชี และยืนยันตัวตน

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอนาคตเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ อาทิ “เต่าบิน”และเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า “GINKA” นอกจากจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไร จากการถือหุ้นใน “เต่าบิน” ที่จะขยายเพิ่มให้ได้ 7,000-8,000 ตู้ จากปัจจุบัน 6,567 ตู้ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566) ตามแผนการดำเนินงานแล้ว บริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากการให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่ติดตั้งในไตรมาสที่ 3 ในรูปแบบ AC Type ซึ่งดำเนินการติดตั้งไปแล้วมากกว่า 20 จุด และอยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดบริษัทเตรียมติดตั้ง GINKA Charge Point เพิ่มเติมในโครงการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ คาดว่าจะดำเนินการได้ทันภายในปีนี้ ซึ่งจะสนับสนุนให้จำนวนการติดตั้งของ GINKA ได้ 200 จุด ก่อนขยายเป็น 5,000 จุดภายใน 1 ปี

โดยในปีนี้ GINKA จะขยายจุดติดตั้งระบบ AC Type ก่อนขยายระบบ DC Type เพิ่มในปี 2567 ด้วยโมเดลธุรกิจ 2 รูปแบบ ได้แก่

1.การขายเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีระบบบริหารจัดการหลังการขาย ผ่านตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท

2.บริษัทร่วมลงทุนกับเจ้าของพื้นที่ ด้วยการติดตั้งในพื้นที่ปิดที่หลากหลาย ให้ครอบคลุมการใช้งานของลูกค้าทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม สนามกอล์ฟ เป็นต้น

รวมทั้งพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะการใช้งานจริง ในแต่ละพื้นที่ ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา และอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าของพื้นที่ และลูกค้าผู้มาใช้บริการ เช่น GINKA Smart Meter มิเตอร์ไฟฟ้าแยกมิเตอร์จากส่วนกลาง พร้อมระบบรับชำระเงินแบบเติมเงิน ทางเลือกใหม่สำหรับลูกบ้านและเจ้าของโครงการ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน สถานีบริการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV Station) ที่ภายในสถานีชาร์จจะมีเคาน์เตอร์เครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติ ที่จะเปิดให้บริการในลักษณะคาเฟ่ ในรูปแบบบริการด้วยตนเอง ที่มีอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ชานมไข่มุก อาหารพร้อมทานต่างๆ อย่าง ก๋วยเตี๋ยว ลูกชิ้นทอด เป็นต้น โดยมีพื้นที่ให้ลูกค้านั่งขณะรอชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแผนการดำเนินการคาดการณ์ว่าจะสามารถ เปิดให้บริการเคาน์เตอร์เครื่องดื่มชงสดอัตโนมัติในนาม “เต่าบิน เคาน์เตอร์” ภายในปีนี้

Related Posts

Send this to a friend