HUMANITY

ไฟไหม้ป่าเมืองเหนือ และบรรยากาศอันคุกรุ่น

วันก่อน พฤ โอ่โอเชา หนุ่มกะเหรี่ยงและเมีย พร้อมชาวบ้านกว่า 10 ชีวิต ต้องลุยป่าเพื่อไปให้ถึงจุดที่เกิดไฟไหม้ป่าในลุ่มน้ำแม่ขาน จังหวัดเชียงใหม่ พวกเขามีเพียงเครื่องป่าลม 1 เครื่องที่ได้รับจากการบริจาค ส่วนเครื่องมือดับไฟอื่นๆ ไปหาเอาข้างหน้า กว่าจะถึงจุดเกิดเหตุมิใช่เรื่องง่ายเพราะต้องเดินบุกป่าฝ่าดงข้ามภูเขาใช้เวลาหลายชั่วโมง

การสู้กับไฟป่าในยามบ่าย 3 ขณะที่แสงแดดกำลังแผดจ้า บวกกับความร้อนจากไฟที่กำลังแผดเผา ถ้าใครไม่อึดจริง คงต้องถอยห่าง

แต่คนป่าคนดงอย่างพวกเขาทำได้

ในปีนี้ไฟป่าภาคเหนือรุนแรงมาก แม้ทางการมีหน่วยงานควบคุมไฟป่ากระจายอยู่ทั่ว แต่กำลังเจ้าหน้าที่มีอยู่เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับเนื้อที่ป่าจำนวนมหาศาลแล้ว ถือว่ายังมีช่องโหว่อีกมาก ดังนั้นกำลังหลักในหลายพื้นที่จึงเป็นชาวบ้านในชุมชน

“พอรู้ว่ามีไฟเข้ามาในป่าแถวบ้าน เราก็ต้องรีบไป พวกเราถูกกล่าวหาว่าชาวบ้านเป็นต้นเหตุของไฟไหม้ป่ามาโดยตลอด ทั้งๆที่ความจริงแล้ว เราช่วยกันสร้างแนวกันไฟ และช่วยกันดับไฟทุกปี” พฤเล่าถึงสาเหตุที่ต้องทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจลงพื้นที่อันร้อนระอุ

“พวกเราชาวกะเหรี่ยง หากินอยู่กับป่า ไม่มีใครอยากเห็นป่าถูกทำลายหรอก”

นอกจากอุปกรณ์ใช้ดับไฟแล้ว เขายังเตรียม ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและน้ำ 1 กระบอกไปด้วย ปกติแล้วพอดับเสร็จ พวกเขาก็มักกลับมานอนบ้าน แต่ครั้งนี้จุดที่ไฟไหม้อยู่ไกล กว่าที่พวกเขาจะสร้างแนวป้องกันไปเสร็จก็ตกค่ำ  พฤและเมียรวมถึงชาวบ้านบางส่วนจึงนอนค้างอยู่ในป่า อีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้ไฟฟื้นขึ้นมาอีก

หมู่บ้านป่าคา ที่พฤอาศัยอยู่เป็นหย่อมบ้านเล็กๆ ในอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยชาวบ้านกำลังเผชิญปัญหาป่าชุมชนที่ร่วมกันปกป้องดูแลมานาน กำลังถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยาน

ถ้าเราไม่รีบเข้าไปดับไฟ เดี๋ยวเขาก็จะหาว่านี่ไง ไฟไหม้ป่า ชาวบ้านดูแลกันเองไม่ได้ กลายเป็นช่องว่างหรือข้ออ้างให้ถูกผนวกเป็นของอุทยาน

ประสบการณ์ในการดับไฟไหม้ป่ามาหลายปี รวมทั้งตระเวน ไปร่วมกิจกรรมในชุมชนกะเหรี่ยงพื้นที่ต่างๆ ทำให้พฤ สามารถวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ ได้คมชัด

มิใช่เพียงแค่พฤและชาวบ้านป่าคาเท่านั้น ที่ร่วมกันดับไฟไหม้ป่าครั้งแล้วครั้งเล่า ในทุกๆ ปีชาวบ้านในชุมชนตามป่าดอยต่างก็จัดทีมป้องกันและดับไฟไหม้ป่า

ป่าชุมชนเป็นพื้นที่วัฒนธรรมของชาวบ้าน หลายพื้นที่มีกฎกติกาอย่างเข้มแข็ง ทั้งในเรื่องการใช้สอยและดูแลรักษา แต่เมื่อราชการไทยสร้างเงื่อนไขใหม่ผ่านช่องทางกฎหมายในการคุมเข้มและขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ทำให้ความรู้สึก “เจ็บลึก”กินเข้าไปในหัวอก ความสัมพันธ์อันหวาดระแวงที่มีอยู่แล้วระหว่างทางการและชาวบ้าน ก็ยิ่งง่อนแง่น เพราะแม้แต่วัวควายที่ชาวบ้านเลี้ยงแบบปล่อยเข้าป่าตามวิถีดั้งเดิมก็ยังถูกห้าม

ในขณะที่พิษโควิด-19 ส่งผลให้คนหนีเมืองกลับคืนถิ่นฐาน รัฐบาลต้องการให้คนอยู่กับบ้าน คนในสังคมส่วนใหญ่ยังหาซื้อข้าวปลาอาหารตามร้านรวงได้ แต่คนที่อยู่ตามป่าดงกลับถูกห้ามเข้าไปหากินในป่า กลายเป็นความย้อนแย้งของนโยบาย

ที่สำคัญคือเมื่อเกิดไฟไหม้ป่า ชุมชนตามป่าเขากลับถูกชี้นิ้วให้เป็นจำเลยและต้นเหตุของไฟไหม้ป่า ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนก็ชี้นิ้วกลับไปที่เจ้าหน้าที่รัฐได้เช่นเดียวกัน เพราะมีเสียงครหาในเรื่องโกงกินและทุจริตงบประมาณมาโดยตลอด

เพลิงที่โหมกระหน่ำป่าในอุทยานฯ ดอยสุเทพ-ปุย เป็นตัวอย่างชัดเจนของความสลับซับซ้อนของปัญหานี้ คนพื้นที่ต่างบอกว่าป่าแถบนี้ถูกไฟไหม้เป็นประจำทุกปี เพียงแต่อยู่อีกซีกหนึ่งของเทือกเขา

แต่ครั้งนี้ไฟได้ลุกโหมป่าในซีกที่หันหน้าเข้าเมืองเชียงใหม่ด้านดอยสุเทพ และมีความรุนแรงกินอาณาบริเวณกว้างเพราะสะสมเชื้อเพลิงไว้หลายปี

ที่ผ่านมาภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประกอบด้วยนักธุรกิจ ข้าราชการ พ่อค้า สื่อมวลชน นักพัฒนา ประชาชนทั่วไป ฯลฯ ได้รวมตัวกันในนามสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้พยายามหารือและวางแผนแก้ไขสภาพวิกฤตของอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ซึ่งทำให้เมืองเชียงใหม่ติดอันดับความเลวร้ายเป็นที่ 1  ของโลก โดยไฟไหม้ป่าถือว่าเป็นส่วนสำคัญของวิกฤตการณ์นี้

แต่พลันที่ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ และประกาศก้องว่าชาวบ้านเป็นจำเลยในการเผาป่าดอยสุเทพ ความร่วมมือบางอย่างจึงต้องสะดุดกึก

ผืนป่าดอยสุเทพทำท่าจะกลายเป็นอาณาจักรหวงห้ามสำหรับประชาชน แม้แต่อาสาสมัครที่บินโดรน ที่นำภาพในมุมกว้างมาวางแผนและถ่ายทอดข้อเท็จจริงสู่สังคมก็ยังถูกห้าม

เป็นที่น่าสังเกตว่าป่าที่ถูกไฟไหม้ในผืนป่าดอยสุเทพครั้งนี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ยามนี้ปอดของคนเชียงใหม่และผืนป่าจึงเปรียบเสมือนตัวประกันในสมรภูมิเผาป่า

รัฐบาลไทยเคยผิดพลาดครั้งใหญ่ในสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สลายการชุมนุมและใช้ความรุนแรงกับประชาชนมุสลิม จนกลายเหตุการณ์บานปลายมาจนถึงทุกวันนี้ สงครามความรู้สึกกำลังเกิดขึ้นในผืนป่าใหญ่ของภาคเหนือซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เช่นเดียวกัน

ถ้ารัฐไทยยังไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีและรูปแบบ บางทีประวัติศาสตร์ที่ปลายด้ามขวานอาจจะซ้ำรอยในภาคเหนือได้

Related Posts

Send this to a friend