HUMANITY

ผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยง เข้าไทยแล้ว 2,267 คน ยังหนีระเบิดนับหมื่น ไทยจัดพื้นที่พักพิง 4 แห่ง

ความคืบหน้าผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยง ได้ข้ามแม่น้ำสาละวินมาฝั่งไทยแล้ว 2,267 คน ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการของศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียน ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยทั้งหมดอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 4 แห่ง ที่เป็นบริเวณลำห้วย ต้องผูกเปล ใช้ผ้าใบกางกันฝน และนอนในสภาพที่ยากลำบากเนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างหนัก มีผู้สูงอายุที่ต้องใช้เปลหามมาด้วย (รายละเอียดตามภาพ) ในขณะที่พื้นที่ จ.พะพูน จ.มือตรอ รัฐกะเหรี่ยง ที่ถูกโจมตีทางอากาศ ยังมีประชาชนชาวกะเหรี่ยงได้รับผลกระทบนับหมื่นคน

ศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน แถลงข่าวสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ประจำวันที่ 30 เม.ย.64 ระบุว่า

สถานการณ์การสู้รบฝั่งเมียนมา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 เวลา 12.00 น. ได้ยินเสียงอากาศยาน (ไม่ทราบแบบ) บริเวณเหนือฐานทหารเมียนมา ฐานดา-กวิน ด้านตรงข้าม บ.ท่าตาฝั่ง อ. แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จากนั้นโจมตีทางอากาศโดยรอบฐานดา-กวิน (ไม่ทราบการสูญเสีย)

เวลา 23.00 น. บริเวณฐานด้ากวินได้ยินเสียงเครื่องยิงลูกระเบิดและเสียงปืนเล็กจากทั้งสองฝ่ายเพิ่มมากขึ้นน่าจะเป็นการยิงตอบโต้กันทั้งสองฝ่าย (ไม่ทราบการสูญเสีย)

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 64 เวลา 02.20 น. ทหารเมียนมาได้ใช้เครื่องบินรบ (ไม่ทราบแบบ) ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศบริเวณรอบฐานฯ ดา-กวินจำนวน 1 ลำทิ้งระเบิดจำนวน 2 ลูกทางด้านทิศตะวันตกของฐานด้ากวินห่างจากฐานฯ ประมาณ 500 ม. จากนั้นได้มีการใช้อาวุธตอบโต้กันอย่างหนาแน่น (ไม่ทราบการสูญเสีย)

ในห้วงที่ผ่านมาอากาศยานของเมียนมาไม่ได้บินรุกล้ำน่านฟ้าเข้ามาในฝั่งไทยและการโจมตีทางอากาศของเมียนมาต่อเป้าหมายกองกำลังชนกลุ่มน้อยเชื้อสายกะเหรี่ยงในฝั่งเมียนมายังไม่ส่งผลกระทบต่อฝั่งไทยและยังไม่ถือว่าเป็นการละเมิดหรือรุกล้ำอธิปไตยของไทย

เนื่องจากในห้วงที่ผ่านมายังไม่มีการปฏิบัติการทางอากาศที่รุกล้ำเข้ามาในฝั่งไทยในสถานการณ์ปัจจุบันกองกำลังนเรศวรโดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหาราบที่ 7 และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ๒.๑ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 เวลา 15.00 น.เป็นต้นมามีราษฎรชาวเมียนมาเดินทางข้ามมายังฝั่งประเทศไทยโดยทางเรือซึ่งทางทหารได้จัดให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวบริเวณห้วยอีนวลต. แม่ยวม อ. แม่สะเรียงและพื้นที่ใกล้เคียง

ณ ปัจจุบันมีราษฎรชาวเมียนมาที่เดินทางข้ามมายังฝั่งไทยจากเหตุความไม่สงบในเมียนมาพักในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 4 แห่งรวมทั้งสิ้น 2,267 คนดังนี้


1. พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวบริเวณห้วยอีนวลต. แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จำนวน 269 คน
2. พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวบริเวณห้วยโกเฮ ต. แม่ยวม อ.แม่สะเรียงจำนวน 32 คน
3. พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวตรงข้ามห้วยอมปะต. แม่ยวม อ.แม่สะเรียงจำนวน 1,767 คน
4. ที่ปลอดภัยชั่วคราว ตรงข้ามห้วยออเลาะ ต. แม่ยวม อ.แม่สะเรียงจำนวน 159 คน

กรณีราษฎรไทยได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศเมียนมาใน 2 พื้นที่รวมทั้งสิ้น 220 คนได้จัดให้อยู่ในพื้นที่รวบพลเรือนขั้นต้นดังนี้

  • ราษฎรไทยพื้นที่ บ.แม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย ได้อพยพไปยังพื้นที่พื้นที่รวบพลเรือนขั้นต้นโรงเรียนบ้านห้วยกองก้าด ต. แม่สามแลบ อ.สบเมยจ. แม่ฮ่องสอน ประมาณ 450 คนเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 64 ที่ผ่านมา ณ ปัจจุบันบางส่วนได้ไปพักอาศัยในบ้านญาติ ขณะนี้คงเหลือในพื้นที่รวบพลเรือนขั้นต้นจำนวน 150 คนโดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 จัดกำลังร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอสบเมย, สถานีตำรวจภูธรสบเมย, เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอสบเมยและองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับราษฎรดังกล่าว
  • ราษฎรไทยในพื้นที่ บ.ท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียงจำนวน 70 คนได้อพยพไปยังพื้นที่รวบพลเรือนขั้นต้นที่พักริมห้วยกองคา ต.ท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียงเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 64 ที่ผ่านมา ณ ปัจจุบันยังคงอยู่ในพื้นที่รวมรวบพลเรือนขั้นต้นทั้ง 70 คนโดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 จัดกำลังร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอแม่สะเรียง, สถานีตำรวจภูธรแม่สะเรียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอแม่สะเรียงและองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตาฝั่งช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับราษฎรดังกล่าว

ขณะที่ นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 เรื่องสถานการณ์ชายแดนไทยพม่า ว่าเมื่อวันที่ 27 เมษายน กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU-KNLA เข้าโจมตีฐานที่มั่นของพม่า ใกล้ชายแดนที่ จ.แม่ฮ่องสอน การปะทะและการการโจมตีทางอากาศของทหารพม่า เพื่อตอบโต้ ทำให้ราษฎรไทยได้รับผลกระทบสองพื้นที่ คือบ้านแม่สามแลบ และบ้านท่าตาฝั่ง ต้องอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย

มีรายงานว่าคงเหลือ 220 รายสำหรับผู้หนีภัยจากความไม่สงบในพม่า ที่หลบหนีข้ามมายังฝั่งไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว และดำเนินการ มีพื้นที่แรกรับ ในการกำกับดูแลของทหาร โดยจะมีการคัดกรองโควิด 19 ขณะนี้มีผู้หนีภัยอยู่ในพื้นที่แรกรับ ใน อ.แม่สะเรียง จำนวน 2,267 คน หากการสู้รบรุนแรงและยืดเยื้อ มีแผนเตรียมเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่พักรอ ห่างจากชายแดน 1 กม จะมีหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชนดูแลต่อไป ขณะนี้ยังไม่เปิดรับบริจาคส่วนในพื้นที่หน่วยงานความมั่นคงยังตั้งจุดตรวจในการคัดกรองโรคโควิด-19 และห้ามบุคคลภายนอกรวมทั้งสื่อมวลชนเข้าไปในพื้นที่ริมแม่น้ำสาละวิน

พ.อ.สุจินต์ ทรัพย์สิน ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 7 และ พ.อ.สมรรถชัย แปงสาย ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 ได้เข้าตรวจเยี่ยมผู้อพยพราษฎรไทย ในพื้นที่รวบพลเรือนขั้นต้น บ้านห้วยกองก้าด ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และ ติดตามการการทำงานภายหลังจากที่ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแม่ฮ่องสอน มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ลงพื้นที่คัดกรองโควิด ให้กับกลุ่มประชากรบ้านแม่สามแลบ และตรวจเยี่ยม จุดตรวจหน้า องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ พบปะเจ้าหน้าที่บริเวณจุดคัดกรอง โดยยืนยันว่า สาเหตุที่ยังไม่ให้สื่อเข้าไปในพื้นที่บ้านแม่สามแลบเนื่องจากยังไม่ปลอดภัย เกรงอันตรายจากการสู้รบ และ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย

ขณะที่ พ.อ.ชูศักดิ์ ธีรากิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย (รอง ผอ.สนภ.3 นทพ. ) เดินทางมาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 ( นพค.36 ) และประชาชนในพื้นที่ปลอดภัย บ.ห้วยกองก๊าด และเยี่ยมหน่วยความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน

พร้อมกันนี้ได้มอบถุงยังชีพ อาหาร เครื่องดื่ม และหน้ากากอนามัย ให้กับหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานราชการ และประชาชนที่อพยพมาจากเหตุการณ์สู้รบ ฯ ณ บ.แม่สามแลบ และ บ.ห้วยกองก๊าด ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

ทั้งนี้ช่วงที่เกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างทหารกะเหรี่ยง KNU กับทหารพม่า ฝั่งตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 ได้ส่งกำลังพลของหน่วยพร้อมรถยนต์ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เข้าช่วยเหลือเคลื่อนย้ายราษฏรไทยบ้านแม่สามแลบไปและส่งรถผลิตน้ำดื่มสะอาดจำนวน 1 คัน ไปให้การช่วยเหลือบริการน้ำดื่มสะอาดแก่ราษฏรไทยที่พื้นที่ปลอดภัย โรงเรียนบ้านห้วยกองก๊าด อย่างทั่วถึงและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชายแดน

ขอบคุณภาพจากผู้อพยพจาก KWO-Karen Woman Organization

Related Posts

Send this to a friend