HUMANITY

ผอ.รพ.แม่สอด ย้ำช่วยเหลือทางการแพทย์ผู้หนีภัยชาวเมียนมา มี 9 รายบาดเจ็บจากระเบิด-กระสุน

ผู้สื่อข่าว The Reporters สัมภาษณ์ นพ.ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 64 และสัมภาษณ์ ซินเธีย หม่อง แพทย์ชาวเมียนมาผู้ลี้ภัยทางการเมืองมาฝั่งไทยตั้งแต่ปี 1988 และเป็นผู้ดูแลแม่ตาวคลินิก เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 64 ถึงสถานการณ์และการดำเนินการทางสาธารณสุข สำหรับผู้อพยพหนีภัยของชาวเมียนมาที่ข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทยอันเป็นผลจากการสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังเชื้อสายกะเหรี่ยง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

นพ.ธวัชชัย บอกเล่าภาพรวมว่า ตอนนี้เหตุการณ์สู้รบเข้าสู่วันที่ 11 แล้ว ช่วงแรกสักประมาณ 5-6 วันแรก รพ.แม่สอด ก็ได้ส่งทีมไปตั้งหน่วยแพทย์ที่บริเวณที่กักกัน พบว่ามีคนท้องเสียเป็นจำนวนมาก

“ที่บ้านแม่ตาวกลาง มีคนท้องร่วงประมาณ 300 กว่าคน แล้ววันที่ 21 ที่บ้านเมยโค้ง พบอีกประมาณ 30 กว่าคน แล้วพอวันที่ 23 เป็นต้นมาเราก็ถอนทีมแพทย์ออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากมีการสู้รบในฝั่งตรงข้าม ก็ไปตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาที่ศูนย์เด็กเล็กมหาวัน ห่างจากแม่น้ำเมยกว่า 1 กิโลเมตร แต่เราก็ยังอยากให้การรักษาอยู่ ดังนั้น หากพื้นที่กักกันมีการเจ็บป่วยที่เสนารักษ์ทหารหน้างานไม่สามารถรักษาได้ก็จะประสานออกมา” ผอ.รพ.แม่สอด แจกแจงระบบจัดการผู้ป่วยชั่วคราว

“อยากให้คนที่ดูแลผู้ลี้ภัยตอนนี้ควบคุมเรื่องอาหารให้ดี อาหารที่ให้นั้นควรต้องเป็นอาหารร้อนปรุงใหม่ อย่าให้มีกะทิปนเข้ามา เพราะพอทำเสร็จเอาไปวางไว้เดี๋ยวมันก็จะเสีย และอีกอย่างช่วงนี้อากาศเปลี่ยน ก็ให้ระมัดระวังเรื่องไข้หวัด ทำร่างกายให้อุ่นไว้ ใครมีโรคประจำตัวช่วยแจ้งนิดนึง ทีมหน่วยแพทย์จะดูแลต่อไป”

ส่วนผลกระทบจากการสู้รบ ผอ.รพ.แม่สอด ชี้แจงว่า เมื่อวานนี้มีการนำเข้า รพ.แม่สอด จำนวน 6 ราย มี 3 รายโดนระเบิดและกระสุนปืน รวมตอนนี้ 9 ราย มีการผ่าสมอง ใช้พื้นที่ในห้องผู้ป่วยหนักไปประมาณ 2 เตียง และพยายามดูให้อยู่

สำหรับการคัดกรองโควิด-19 รพ.แม่สอดจะทำการคัดกรองเบื้องต้น โดยให้หน่วยเสนารักษ์คัดกรองก่อน เมื่อใดต้องนำคนไข้เข้ารักษาที่ รพ. ก็มีหน่วยแพทย์ของ รพ.แม่สอด ทำ ATK

“ตอนนี้ก็ส่งเข้ามา 50 คนแล้ว ก็ถือเป็นสิ่งที่โชคดี ที่สามารถจัดพื้นที่ไม่ให้มีการแพร่ระบาด และทำความเข้าใจกับคนไทยด้วย ตอนนี้ยังมีการทำงานของภายในเราอยู่ ยกเว้นพื้นที่อำเภอแม่สอดก็จะมีองค์กรต่าง ๆ มาช่วยเหลือเราบ้าง ทั้งการเป็นล่าม หาอุปกรณ์ต่าง ๆ มาสนับสนุน เพราะแม่สอดเราทำงานประสานกันมาอยู่แล้ว ตอนนี้ไม่น่าเป็นห่วงเลย” รพ.แม่สอด กล่าวถึงการบูรณาการทำงานกันระหว่างหน่วยงานสาธารณสุข “แต่ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อขึ้นมา และมีคนเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ก็จะร้องขอไปยังส่วนกลาง เมื่อคืนได้คุยกับผู้บริหารกระทรวง ท่านก็แจ้งว่าหากรับมือไม่ไหวให้แจ้งมา ส่วนกลางจะจัดคนมาให้ เราทำงานกันเป็นทีม”

นพ.ธวัชชัย เศรษฐศุภพนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด

ทั้งนี้ ผอ.รพ.แม่สอด วางแผนจัดการสถานการณ์โควิด-19 ในระยะยาวว่า ในส่วนที่เป็นแรงงานหรือคนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินไทย ได้ทำการฉีดวัคซีนให้ทั้งหมด โดยฉีดไปได้สัก 50,000-60,000 คนแล้ว และกำลังเร่งฉีดให้อยู่ ส่วนในส่วนผู้ลี้ภัยต้องปรึกษากับฝ่ายความมั่นคงอีกทีหนึ่งเนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องลองหาจุดสมดุลว่าจะลงไปฉีดได้แค่ไหน

“ส่วนศูนย์อพยพ 3 แห่งเราก็เร่งฉีดให้อยู่ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ได้รับแจ้งจากสภากาชาดให้เร่งฉีด Sinopharm มาทางซีกตะวันตก ก็ส่งให้ รพ.แม่สอด กระจายฉีดให้ศูนย์อพยพถาวรทั้ง 3 แห่งต่อไป” ผอ.รพ.แม่สอด ชี้แจง

เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลจนดีขึ้นพ้นระยะวิกฤต ผอ.รพ.แม่สอด ระบุว่า รพ. มีพันธมิตรรับรักษาฟื้นฟูต่อคือ แม่ตาวคลินิก เพื่อให้มีเตียงเพียงพอรับผู้ป่วยรายใหม่ได้ต่อไป ซึ่งคลินิกดังกล่าวมีผู้ดูแลคือ หมอซินเธีย หม่อง ซึ่งเน้นย้ำไปในทางเดียวกันว่ามีการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานเครือข่ายสาธารณสุขในพื้นที่ ในไทย และในระดับนานาชาติ

“สำหรับพื้นที่ที่มีการสู้รบ ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลใกล้ชิดอยู่กับชาวบ้าน แล้วก็กลุ่มหมอซินเธียที่พยายามช่วยเท่าที่ทำได้ แม่ตาวคลินิกทำงานกับประชาชนผู้พลัดถิ่นที่เข้าถึงบ้านเรือนตามปกติไม่ได้แล้ว ต้องไปพื้นที่อพยพชั่วคราว ที่ผ่านมากลุ่มผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรงช่วง 2-3 อาทิตย์นี้ ทั้งหมดส่งไปยัง รพ.แม่สอด แต่ออกมาก็พักแม่ตาว นอกจากนี้ ยังมีความช่วยเหลือจากกลุ่ม KDH ที่ประสานกับโรงพยาบาลแม่สอดมาตลอด และ ICRC ที่คอยดูแลค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล”

หมอซินเธีย ชี้แจงถึงการทำงานที่แม่ตาวคลินิก ซึ่งทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมหลายองค์กร ทั้งของชาติพันธุ์และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วรัฐชาติพันธุ์ โดยช่วงปีที่ผ่านมามีความท้าทายมาก โดยเฉพาะการขนส่งเวชภัณฑ์ รวมถึงชุดทำคลอด ชุดแรกเกิด เนื่องจากการขนส่งในเมียนมาไม่สามารถทำได้อีกแล้ว ก็จะส่งข้ามพรมแดนจากฝั่งไทย

“ระบบสาธารณสุขของเมียนมาเดิมก็เลวร้ายอยู่แล้ว พอมารัฐประหารก็พังไปโดยสิ้นเชิง ประชาชนก็ต้องหลบซ่อน และกลัวที่จะรับวัคซีนจากพื้นที่ที่คุมโดยทหาร ตลอดจนกังวลเรื่องความปลอดภัยในบ้านของตนเอง ทำให้หลายคนยังคงพลัดถิ่น กลุ่มเปราะบางก็เป็นโรค เราจึงไม่มีข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิต”

ความท้าทายของแม่ตาวคลินิกในปัจจุบัน เกิดจากการเมืองและความรุนแรงภายในเมียนมา โดยที่หมอซินเธียชี้ให้เห็นถึงสาเหตุสำคัญจากการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 และการมีอำนาจมากขึ้นของกองทัพพม่า ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นแค่กลุ่มชาติพันธุ์ในบริเวณชายแดนหรือรัฐกะเหรี่ยงอีกแล้ว แต่ยังมีที่รัฐคะฉิ่น รัฐชิน และรัฐอื่น ๆ ด้วย ทั้งประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกจับกุม กักขัง และเข่นฆ่า

“ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนเผชิญปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือความไม่ปลอดภัย ต้องพบกับลูกระเบิดและอาวุธรุนแรง สถานการณ์นี้จึงต้องมีเรื่องการช่วยเหลือ ทั้งอาหาร น้ำ และที่สำคัญคือศักดิ์ศรี อย่างเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องคำนึงถึง ประชากรที่แตกต่าง เด็กและคนชรา สถานการณ์ตลอด 1 ปีเป็นสถานการณ์ที่ตึงเครียดมากอยู่แล้ว การมีระเบิดยิ่งทำให้ตึงเครียด จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ปลอดภัย การปฏิบัติต่อมนุษย์เช่นเดียวกัน การมีน้ำสะอาด การป้องกันและรักษาโควิด รวมถึงวัคซีนที่ตอนนี้ยังไม่มีและเข้าถึงยากมาก โดยเฉพาะเด็ก ทารก และแม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด”

หมอซินเธีย จึงชี้แจงการทำงานของแม่ตาวคลินิกในช่วงโควิด-19 ว่ามีกลุ่มผู้ป่วยหลัก คือ สตรีมีครรภ์และผู้ป่วยโควิด

“เราเลยยกพื้นที่โรงพยาบาลหนึ่งหลังเป็นโรงพยาบาลสนามโควิดโดยเฉพาะ หากชายแดนรุนแรงขึ้นก็จะลำบาก โดยทั่วไปก็รักษา 2-3 วัน หรือบางทีก็ครบ 1 เดือน เรื่องอาหารไม่ลำบากเท่าไร แต่พื้นที่มีจำกัด และยังต้องมีโปรแกรมฟื้นฟูผู้บาดเจ็บโดยเฉพาะ การเดินทางก็ยากโดยเฉพาะผู้ไม่มีเอกสาร ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มที่ยังไม่ฉีดวัคซีน เราจึงพยายามให้มีโปรแกรมลงทะเบียนรอฉีด ซึ่งประสาน รพ.แม่สอด และ รพสต. โดยเราพยายามให้ความรู้และดึงมาฉีดให้ได้มากที่สุด”

หมอซินเธีย ชี้แจงถึงความท้าทายของมาตรการโควิด-19 ในช่วงการสู้รบชายแดนว่า “สธ. ชุมชน มีชุด PE และรู้วิธีการป้องกันอยู่แล้ว แต่สภาวะสงครามและการพลัดถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ต้องหนี มาตรการป้องกันก็อ่อนแอลง เพราะต้องคำนึงความปลอดภัยก่อน มันเป็นภาวะทุกคนต้องหนี ความไม่ปลอดภัยตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออื่นด้วย เด็กเล็กก็ไม่ได้ฉีดวัคซีน ก็ทำให้เป็นโรคต่าง ๆ มากขึ้น และมีโรคจากน้ำที่เป็นความไม่สะอาดทางสุขอนามัยมากขึ้นด้วย เพราะช่วงนี้ระหว่างหนีลูกระเบิด ผู้ลี้ภัยก็ถูกจับมาอยู่รวมกันอย่างอึดอัด”

“สิ่งที่เราทำคือการตอบสนองปัญหาให้ดีขึ้น ทำอย่างไรให้ความช่วยเหลือเข้าถึงชุมชน แล้วก็ขอให้เก็บข้อมูลในพื้นที่ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงจากทหารพม่าในพื้นที่ต่าง ๆ เราทำงานร่วมกับหมอและพยาบาลที่มาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ และมาจากกลุ่ม CDM ในเมียนมา ที่สามารถทำโรงพยาบาลสนาม ผ่าตัดฉุกเฉิน ส่งต่อผู้ป่วยออกมาได้ ตลอดจนอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่อเนื่อง” หมอซินเธีย เน้นย้ำถึงความตั้งใจของแม่ตาวคลินิกที่ดูแลผู้หนีภัยชายแดนไทย-เมียนมาจนถึงปัจจุบัน

Related Posts

Send this to a friend