HUMANITY

ถกบทบาทอาเซียนสร้างสันติภาพในเมียนมา

ถกบทบาทอาเซียนสร้างสันติภาพในเมียนมา ‘กัณวีร์’ เสนอไทยเจรจาพื้นที่ปลอดภัยแนวชายแดน รวมองคาพยพพร้อมรับผู้ลี้ภัยสู้รบ ‘สุนัย’ ชงอาเซียนตั้งเงื่อนไขสมาชิกภาพ หลังเมียนมาละเมิดฉันทามติ 5 ข้อ หวังทุกฝ่ายแสวงหาข้อยุติความรุนแรงต่อมนุษยชาติ

วันนี้ (16 ส.ค. 66) ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนา “บทบาทอาเซียนในการเสริมสร้างสันติภาพในเมียนมา” แลกเปลี่ยนแนวทางการสร้างสันติภาพในเมียนมา ภายหลังการรัฐประหารโดยรัฐบาลทหารเมียนมา โดย นายกัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม, รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย
,นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ และ กรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ ดำเนินรายการโดย น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters

นายกัณวีร์ มองว่า บทบาทของรัฐบาลไทยในการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีผู้ลี้ภัยการสู้รบบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา อยู่ ในฐานะที่ตนเคยทำงานใน UNHCR และ สส. ในปัจจุบัน มองว่าไทยต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการทูตเน้นการมองที่สิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมมากกว่าการดำเนินการการทูตแบบอนุรักษ์นิยมแบบรัฐต่อรัฐ โดยเฉพาะในรัฐบาลทหารไทย-เมียนมา ต้องทำให้ การเมืองไทยมีประชาธิปไตยอย่างเต็มใบ เพื่อก้าวพ้น ตรงนี้ให้ได้ บทบาทแรกที่รัฐบาลไทยสามารถทำได้ เมื่อขณะนี้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ การลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยต้องพิจารณาเปิดระเบียงมนุษยธรรม (Humanitorian Coridoor) บริเวณชายแดนไทยทั้งหมดที่ติดกับประเทศเมียนมา ซึ่งไม่ใช่การชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน แต่ต้องการเปิดประตูให้ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ควรใช้ทุกกลไกกับทหารเมียนมาที่ต้องพูดคุย สร้างพื้นที่ปลอดภัยในบริเวณชายแดนที่จะไม่มีการปฎิบัติการทางทหาร หลีกเลี่ยงไม่ให้ชุมชนชาวไทยและเมียนมาที่อยู่บริเวณมาชายแดนได้รับผลกระทบ จะทำให้ไทยสามารถให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จะช่วยเหลือส่งต่อไปยังประเทศที่สามได้ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจำเป็นต้องเริ่มจากประเทศไทยเนื่องจากมีความซับซ้อนในการช่วยเหลือด้านวัฒนธรรมภายในประเทศเมียนมา และจำเป็นต้องใช้ฉันทามติ 5 ข้อของประชาคมอาเซียน

บทบาทที่สอง คือประเทศไทยต้องเตรียมให้ความพร้อมด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่ ต้องใช้จังหวะนี้เชิญหน่วยงานองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง สถานเอกอัครราชทูต สถานทูตต่างๆ ที่ให้ความสนใจ มาร่วมประชุม รวมถึง ภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศ ว่าแต่ละฝ่ายมีทรัพยากรอย่างไร มีแผนที่จะช่วยเหลืออย่างไรหากเกิดการทะลักเข้ามา ต้องการความช่วยเหลือจากประเทศไทยเพราะสิ่งนี้อาจเกิดได้ทุกวินาที เนื่องจากมีการโจมตีทางอากาศ อาจทำให้เกิดผู้ลี้ภัยได้ตลอด เราต้องใช้จังหวะนี้เป็นผู้นำในการประสานงานกับทุกหน่วยงาน ทุกองคาพยพในการเป็นผู้นำด้านมนุษยธรรม

สุดท้ายบทบาทของประเทศไทยด้านความมั่นคง เรายังไม่มีสมมติฐานว่าทำอย่างไรไม่ให้ผู้ลี้ภัยเดินทางออกจากประเทศเมียนมาไม่ว่าจะเป็น บังคลาเทศ จีน ลาวและประเทศไทยมีพวกคนเมียนมาลี้ภัยออกไปค่อนข้างเยอะ ทหารเมียนมาพยายามให้เกิดสถานการณ์ใดใดบริเวณชายแดน เวลาทหารไทยควรสร้างการพูดคุยการเจรจาโดยเราเป็นผู้นำอาจใช้กรอบอาเซียนก็ได้กลับประเทศบังคลาเทศ จีน ลาว เพื่อทำให้สถานการณ์ชายแดนสงบต้องคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้ได้เป็นบทบาทของไทยอย่างเร่งด่วนจำเป็นต้องทำเรื่องมนุษยธรรมและเรื่องความมั่นคงรวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

ด้าน รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวถึงบริบททางการเมืองทั่วไปของเมียนมา ค่อนข้างมีความแตกต่างกับประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง แต่เมื่อ 12 ปีที่แล้วได้มีความก้าวหน้าในการสร้างสันติภาพในประเทศเมียนมาอย่างมาก เมียนมามีความพยายามสร้างกระบวนการสันติภาพและพยายามทำให้เป็นสถาบันมากขึ้น บางช่วงเวลาวางแผนว่าจะทำอย่างไรบ้างในการสร้างสันติภาพ แต่จุดหักเหในทางประวัติศาสตร์อยู่ในช่วงเดือนตุลาคมปี 2015 เกิดข้อตกลงหยุดยิง มีกองกำลังชาติพันธ์ติดอาวุธร่วมลงนามสันติภาพ ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยรบพุ่งกันใฝ่หาสันติภาพ แต่ควบคู่ไปกับกลุ่มอำนาจที่พยายามเข้ามาแทรกแซง มีฉันทามติในการสร้างประชาธิปไตยในประเทศ และกลับตาลปัตรเมื่อ มิน อ่อง ลาย นำกำลังเข้ายึดอำนาจ ทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ จึงตั้งคำถามว่าคำว่าสันติภาพคืออะไรกันแน่ เข้าใจตรงกันหรือไม่ และความช่วยเหลือของไทยหรืออาเซียนต้องเข้าใจภูมิทัศน์ทางการเมืองภายในเมียนมา มีมีตัวแสดงทางการเมืองทั้ง 3 กลุ่ม เช่น กองกำลังทหารมองสันติภาพคือความสงบเรียบร้อย แม้ต้องใช้ความรุนแรงหรือกำลังอาวุธอะไรก็ได้เพื่อจัดระเบียบสังคม ผสมกับการหยุดยิงและเจรจาผลประโยชน์กับกองกำลังชาติพันธุ์

“เมียนมา เป็นรัฐแห่งการประหัตประหาร รัฐซ้อนรัฐ รัฐพหุความขัดแย้ง แต่ในระยะ 12 ปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าทางการเมืองสันติภาพ และหลังการทำรัฐประหาร ประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมืองมากขึ้นโดยเวลาเราคุยกับเขาว่าเราจะสร้างสันติภาพในเมียนมา แต่ละกลุ่มการแสดงอาจจะเข้าใจสันติภาพไม่ตรงกัน ฉะนั้นการเข้าใจมโนทัศน์ในแต่ละตัวแสดงเป็นเรื่องสำคัญ” รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ กล่าวว่า เมียนมาเป็นโจทย์ยากของรัฐบาลไทย ในการสร้างสมดุลระหว่างหลักการกับหลักปฏิบัติให้เหมาะสม ตระหนักในข้อจำกัด ประเด็นปัญหาที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นเพียงผลสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ที่มีความขัดแย้งและมีความหลากหลาย เรื่องนี้ไม่มีทางออกที่ทำให้ทุกคนพึงพอใจ สันติภาพหมายถึงอะไร หรือสันติภาพเป็นของใครกันแน่ แต่ละยุคสมัยของแต่ละประเทศ สันติภาพมีความแตกต่างกัน ซึ่งอุปสรรคของเมียนมาคือเราอาจยังไม่คิดถึงสันติภาพที่คนเมียนมาควรได้รับ

หากเรามองเรื่องสันติภาพกับอาเซียน เป็นหอกข้างแคร่กับอาเซียนมาตั้งแต่ปี 1997 ที่อาเซียนมักถูกกดดันให้แสดงความกดดัน หรือจัดการกับปัญหาเมียนมา ซึ่งอาเซียนยึดถือหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก ควรยืดหยุ่น

“2 ปีที่ผ่านมา เราเห็นปัญหาในเมียนมา ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาของเมียนมากับอาเซียนเท่านั้น แต่เป็นบริบทของการเมืองระหว่างประเทศได้ด้วย เชื่อว่าอาเซียนมีความเป็นสถาบันและทำอะไรบางอย่างภายใต้การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก และภูมิรัฐศาสตร์ของจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจในเอเชีย อิทธิพลของจีนมีมากในเมียนมา ไม่ว่ากดดันมากขนาดไหนแต่เมียนมามีความสนิทชิดเชื้อกับจีนด้วย”

นางอังคณา นีละไพจิตร กล่าวถึง บทบาทของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพ ทั้งในกรอบสหประชาชาติกับอาเซียน รวมถึงกลุ่มสตรีที่เรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาที่ได้เรียกร้องเรื่องความเสมอภาคทางเพศอีกด้วย ผู้หญิงที่เป็นแม่เรียกร้องขอเยี่ยมลูกที่ถูกควบคุมตัว ผู้หญิงที่เป็นลูกเรียกร้องขอดูศพ ในช่วงความขัดแย้ง สิ่งที่น่ากังวลคือการใช้เพศในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ ที่ผ่านมาความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อย เมื่อปี 2002 ผู้หญิงรัฐฉาน กว่า 625 คนถูกทหารข่มขืน หลายคนตั้งครรภ์ ผู้หญิงหลายคนบอกว่าเธอไม่สามารถมองหน้าลูกได้ เพราะยังเจ็บปวดเหมือนเห็นหน้าคนที่ข่มขืน ดังนั้นการสร้างสันติภาพต้องทำให้ประชาชนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีไม่ใช่เพียงความสงบเรียบร้อยเท่านั้น

นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human Rights Watch ประจำประเทศไทย กล่าวถึง โจทย์เรื่องสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เป็นสถานการณ์ปลายเปิด มีความทดถอยอย่างถึงที่สุดและไม่รู้เห็นจุดจบว่าจะไปถึงเมื่อไร ยังมองไม่เห็นบทสรุปที่ทุกฝ่ายจะเห็นร่วมกันดังนั้นเรื่องสิทธิมนุษยชนจะตกต่ำไปเรื่อยๆ สถานการณ์ตอนนี้พูดได้อยากว่ามีพระเอกกับผู้ร้ายอย่างไร ลักษณะจากตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐก็มีความรุนแรงด้านสิทธิมนุษยชนเช่นกัน เช่น การวางระเบิดในเขตเมือง การลอบสังหาร ส่วนการกระทำของรัฐเมียนมาไปไกลถึงอาชญากรรมสงคราม เช่น การโจมตีพลเรือน โจมตีสถานพยาบาลหรือสถานศึกษา และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ มีความกว้างขวาง อาชญากรรมล้างเผ่าพันธุ์ที่ทำกับกลุ่มโรฮิงญา ซึ่งความร้ายแรงในลักษณะนี้จะหาข้อยุติและเอาผิดได้ยากมาก แม้มีการพิจารณาของศาลโลก และศาลอาญาระหว่างประเทศ เหตุที่กระทำต่อโรฮิงญา ความพยายามเอาผิดดำเนินอย่างต่อเนื่องแต่มีความคืบหน้าน้อยมาก การประหัตประหารผู้เห็นต่าง การปฏิบัติการทางอากาศ ก็ยังหาเจ้าภาพเอาผิดไม่ได้

ในบทบาทของภูมิภาค ตนยังมองว่าไม่เชื่อมั่นในอาเซียน กลายเป็นหนังหน้าไฟ ไม่กล้าออกหน้าเรื่องเมียนมาเพราะมีผลประโยชน์เกี่ยวพันกับกลุ่มของตน ไม่มีใครกล้าพูดเรื่องสมาชิกภาพของเมียนมา ที่ไม่เคารพฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน, พฤติกรรมที่เป็นภัยคุกคามของอาเซียน จะทำให้อาเซียน ขู่ในเงื่อนไขเมียนมามีโอกาสหลุดจากสมาชิกภาพของอาเซียนได้หรือไม่ และใครจะเป็นคนพูด จะกล้าพูดหรือไม่ หรือส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกใดที่พร้อมในการพูด ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย ต้องมีการถกเถียงหารือเพื่อหาทางออก มิเช่นนั้นปัญหาเหล่านี้จะรุนแรงโดยไม่มีจุดจบ

Related Posts

Send this to a friend