HUMANITY

‘แอมเนสตี้’ จี้ รัฐบาลยอมรับข้อผิดพลาด ‘ตากใบ’

‘แอมเนสตี้’ จี้รัฐบาลยอมรับข้อผิดพลาดวาระครบรอบ 19 ปี ‘ตากใบ’ รื้อฟื้นการสอบสวนดำเนินคดีเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชา คุ้มครองการชุมนุมโดยสงบปราศจากทหาร พร้อมปฏิรูปกฎหมายและอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องใน จชต.

วันนี้ (25 ต.ค. 66) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ในวาระครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการทันทีเพื่อคืนความยุติธรรมให้เหยื่อของการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้ายในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ส่วนหนึ่งความว่า

“แถลงการณ์นี้จัดทำขึ้นจากการสัมภาษณ์บุคคล 9 คน ในช่วงเดือนตุลาคม 2566 โดยผู้ให้สัมภาษณ์ 3 คนเป็นผู้ชาย ซึ่งได้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงและถูกทางการควบคุมตัวโดยทางการไทย และอีก 6 คนเป็นผู้หญิงซึ่งเป็นครอบครัวของฝ่ายชายที่ถูกสังหารหรือถูกควบคุมตัวในเหตุการณ์นี้ ทั้งนี้ 5 คนจากผู้หญิงกลุ่มนี้ยังเป็นประจักษ์พยานที่ได้เห็นการสลายการชุมนุมประท้วงอีกด้วย

นอกจากนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้พูดคุยกับทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของคณะทำงานด้านกฎหมายซึ่งให้ความสนับสนุนช่วยเหลือในคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังได้ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ด้วยวิธีการยืนยันเทียบเคียงกับเอกสารของทางการ รายงานข่าว และบันทึกเหตุการณ์จากองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิจัยด้านวิชาการในอดีต ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แถลงการณ์นี้จะใช้นามแฝงสำหรับผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ใช้โอกาสนี้ อำนวยให้เกิดความยุติธรรมกับผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ ก่อนคดีจะหมดอายุความในเดือนตุลาคม 2567 เราขอกระตุ้นให้ทางการไทยดำเนินการดังต่อไปนี้

สำหรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

  • ให้รื้อฟื้นการสอบสวนต่อการดำเนินงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ระหว่างเหตุการณ์นี้โดยทันที และให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาในช่วงเวลาดังกล่าว การสอบสวนกรณีนี้อาจใช้ประโยชน์จากข้อค้นพบของคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล และจากการให้ปากคำขององค์กรภาคประชาสังคม ผู้ชำนาญการอิสระ และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการรับฟังความเห็นจากผู้เสียหายและครอบครัว
  • ให้การประกันว่า แนวทางและการปฏิบัติที่นำมาใช้เพื่อคุ้มครองและอำนวยความสะดวกต่อการชุมนุมสาธารณะ จะสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และหากต้องมีการใช้กำลังใดๆ ให้ถือเป็นทางเลือกสุดท้าย และให้ใช้อย่างจำกัดเฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น

สำหรับสำนักงานอัยการสูงสุด

  • สั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาซึ่งรับผิดชอบต่อการควบคุมการชุมนุมประท้วง ในอำเภอตากใบ การสั่งฟ้องคดีนี้ให้เป็นไปตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยการพิจารณาที่เป็นธรรม

สำหรับกระทรวงยุติธรรม

  • ให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้เสียหายและครอบครัว รวมทั้งทรัพยากรการเงินและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับช่องทางที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
  • จัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทุกคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องในจังหวัดชายแดนใต้ (ตราบที่ยังปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่) เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ, อนุสัญญารว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ, หลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงตํ่าในการบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับรัฐบาลไทย

  • ในบริบทของพื้นที่ จชต. ให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่บังคับใช้อยู่ รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อประกันให้มีการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่ในภูมิภาคนี้ และแก้ปัญหาวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด
  • ให้การประกันว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมการชุมนุมประท้วงในพื้นที่สาธารณะในพื้นที่ จชต.
  • ปฏิรูปกฎหมาย ข้อบังคับ แนวปฏิบัติและการปฏิบัติของทางการทั้งปวง เพื่อประกันว่า เจ้าหน้าที่จะคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้กับการชุมนุมสาธารณะ สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
  • ชี้ชัดถึงความผิดพลาดในอดีต ยอมรับข้อผิดพลาด และใช้บทเรียนดังกล่าว รวมทั้งข้อมูลจากกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กำลัง) เพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรในการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย
  • ทำการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นองค์รวม ในส่วนที่เกี่ยวกับการสลายการชุมนุมในอำเภอตากใบ เพื่อจำแนกมาตรการเพิ่มเติมที่อาจนำมาใช้ให้เกิดการเยียวยาที่เป็นผล การประเมินดังกล่าวต้องครอบคลุมมุมมองด้านเพศสภาพ เพื่อจำแนกความต้องการเป็นการเฉพาะของผู้หญิงชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู
  • ดูแลให้แนวทางการควบคุมการชุมนุม นำไปสู่การคุ้มครองและอำนวยความสะดวกต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการชุมนุมประท้วงมีความสงบ มุ่งเน้นการลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรง และรับประกันว่า จะไม่มีการใช้กำลังอย่างมิชอบต่อผู้ชุมนุมประท้วงอีกต่อไป

Related Posts

Send this to a friend