HUMANITY

เครือข่ายแรงงานข้ามชาติฯ แนะ แรงงาน – ตำรวจ ลดขั้นตอนขอทำงาน สร้างกลไกคุ้มครองสิทธิแรงงาน

สหภาพคนทำงาน-เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แนะ รมว.แรงงาน – ผบ.ตร. ลดขั้นตอนขอทำงาน สร้างกลไกคุ้มครองสิทธิ และดำเนินคดีนายจ้างผิดกฎหมาย เนื่องในวันผู้อพยพโยกย้ายถิ่นสากล

วันนี้ (20 ธ.ค. 65) สหภาพคนทำงาน และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรคนข้ามชาติ (Migrant Working Group: MWG) ยื่นข้อเสนอแนะต่อกระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับปัญหาและข้อเรียกร้องของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นกลุ่มต่าง ๆ ในไทยต่อการบริหารจัดการการทำงานของคนที่ไม่มีสัญชาติไทยในประเทศไทย และกรณีคนไทยเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งผ่านการรวบรวมและเปิดพื้นที่รับฟัง เนื่องในวันผู้อพยพโยกย้ายถิ่นสากล 18 ธันวาคมของทุกปี

เวลา 10:30 น. นางโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในการประชุมหารือ และนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน รับหนังสือแทน ณ ห้องกลุ่มงานคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน

ทางสหภาพฯ ยื่นข้อเสนอแนะต่อกระทรวงแรงงาน ดังนี้

1.ต้องลดเงื่อนไขขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตเข้ามาทำงานในประเทศไทย และพัฒนาศูนย์บริการจัดหางานเบ็ดเสร็จ One Stop Service ทั้งที่มีลักษณะเป็นสำนักงานบริการประจำในพื้นที่ และในลักษณะออนไลน์ เพื่อลดภาระของแรงงานและนายจ้าง

2.ต้องแก้ไขปรับปรุงข้อตกลงการนำเข้าแรงงานระหว่างรัฐต่อรัฐ

3.ต้องปรับปรุงระบบจัดหางานที่กำหนดให้จัดทำผ่านบริษัทเอกชน กำหนดให้มีการจัดหาการช่วยเหลือด้านภาษา ระบบการรับร้องเรียนที่เข้าถึงง่าย มีกลไกติดตามตรวจสอบให้บริษัทเอกชนรับผิดชอบ เพื่อไม่เป็นการผลักภาระให้ผู้ร้องเรียนต้องเดินทางไปหลายแห่ง หลายครั้ง

4.ต้องมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อบริษัทนายหน้า หรือนายจ้างฉ้อโกง สูญเสียเงิน และเอกสารประจำตัว จนไม่สามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานตามกฏหมายได้ตามที่กฎหมายกำหนด

5.ให้กระบวนการเอาผิดกับนายจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน รวมถึงการที่นายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวเหมาช่วง จ้างทำของ พระราชบัญญัติกองทุนประกันสังคม และพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน

6.เสนอให้กรรมการบริหารกองทุนเงินทดแทนพิจารณาออกระเบียบการเข้าถึงกองทุนโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ หรือการเข้าเมืองผิดกฎหมายของผู้เสียหาย โดยเปรียบเทียบกับระเบียบของกองทุนยุติธรรม ของกระทรวงยุติธรรม

7.กระทรวงแรงงานต้องยืนยันหลักการการมีส่วนร่วมในการบริหารอย่างแท้จริงผ่านการเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกันตนโดยต้องไม่กำหนดให้เฉพาะผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น

8.ให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดการบังคับให้บริษัทจัดหางานคนไทยไปต่างประเทศ ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้อย่างรวดเร็ว ให้ประสานกับประเทศปลายทางที่แรงงานไทยไปทำงานเพื่อดำเนินการตรวจสอบบริษัทในประเทศปลายทางที่รับคนไทยทำงานว่าดำเนินการตามกฎหมายของประเทศปลายทางถูกต้องหรือไม่

ต่อมา เวลา 15:00 น. ทางสหภาพฯ เข้าหารือและยื่นหนังสือเรียน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อ พ.ต.อ.ดิสดนัย ภูริปโชติ รองผู้บังคับการแผนงานอาชญากรรม ปฏิบัติหน้าที่เวรอำนวยการ ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ทางสหภาพฯ ยื่นข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้

1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องเร่งรัดพิจารณาการดำเนินคดีกับบริษัทนายหน้าที่ฉ้อโกงบุคคลที่ต้องการหางานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 344 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา

2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องมีกลไกการคุ้มครองแรงงาน ในฐานะพยาน ที่ชัดเจน ในกรณีที่แรงงานออกมาให้ข้อมูลการเรียกเก็บผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ “ส่วย” และการใช้อำนาจนอกเหนือที่กฎหมายกำหนดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานและพื้นที่ต่าง ๆ

3.ให้ดำเนินการเอาผิดกับนายจ้างที่มีการจ้างงานคนต่างด้าวผิดกฎหมายในบริเวณพื้นที่สถานีตำรวจนครบาลคันนายาว ไม่ปฏิบัติตามพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 รวมถึงการตรวจสอบการเก็บส่วยในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

“สหภาพคนทำงานและเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเห็นว่าการปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และการบริหารจัดการแรงงานต้องอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้แบ่งแยกสัญชาติ เพศสภาพ หรือกลุ่มต่าง ๆ ตามสำนึกชาตินิยม เนื่องจากทุกคนคือแรงงาน ที่มีความเป็นพี่น้อง ต้องทำงานเพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัวไม่ต่างกัน”

Related Posts

Send this to a friend