HUMANITY

นักเรียนบ้านป่าเด็งนับร้อยมีปัญหาสถานะ บุคคล วอนรัฐเร่งแก้ หวั่นขาดโอกาสการศึกษา

วันนี้ (15 มิ.ย. 65) นายแซมซั่น ศรีประเสริฐ ผู้นำธรรมชาติบ้านป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เด็กในหมู่บ้านป่าเด็งมีทั้งเด็กกำพร้าพ่อแม่และไม่มีบัตรประชาชน บางส่วนเป็นเด็กตัวจี โดยมีเด็กที่ประสบปัญหาสถานะบุคคลกว่า 100 คน ส่วนใหญ่พ่อแม่ไม่มีบัตรประชาชนและเป็นชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากในอดีตพ่อแม่ไม่มีเงินไปจ้างรถมาทำบัตรถึงที่อำเภอแก่งกระจานซึ่งต้องขับรถกว่า 1 ชั่วโมง ทำให้เมื่อเด็กๆเรียนจบ ป.6 มักไม่ได้เรียนต่อ หรือเรียนบางกลุ่ม จบ ม.6 ก็ไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยไม่ได้เพราะไม่มีเงิน 

“เมื่อก่อนเด็กๆที่ประสบปัญหาเช่นนี้เคยมีถึงกว่า 300 คน แต่เมื่อ 2– ปีก่อน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.ได้มาลงพื้นที่ และช่วยกันเก็บข้อมูลส่งไปที่อำเภอทำให้เด็กกว่า 100 คนได้รับการแก้ไข แต่ทางอำเภอแจ้งว่าหมดก่อน ทำให้เหลืออีกกว่า 100 คน ไม่ได้รับการแก้ไข จริงๆแล้วพวกเขาควรได้ทั้งหมดแล้ว มีรายชื่อตกค้างอยู่ที่อำเภอ อีกบางส่วนที่ตกค้างอยู่ที่โรงเรียนอีกไม่ถึง 50 คน”นายแซมซั่น กล่าวและว่าในปีนี้ก่อนเปิดเทอมมีเด็กนักเรียนที่จบ ป.6 สองคนโทรหาตนโดยบอกว่าอยากเรียนต่อแต่ไม่มีบัตรประชาชน ซึ่งตอนนี้ไม่แน่ใจว่าได้เรียนหนังสือหรือไม่”

ขณะที่ นายเกรียงไกร ชีช่วง ผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยจัดกิจกรรม “กล้าใหญ่อินดี้” ที่โรงเรียนป่าเด็งวิทยา โดยมีนักเรียนและเยาวชนเข้าร่วม 120 คน โดยรูปแบบกิจกรรมมุ่งเน้นการอบรมทักษะจำเป็นในการใช้ชีวิต ทักษะการเข้าสังคม ทักษะการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ การสร้างกำลังใจให้คำปรึกษาปัญหาด้านต่างๆ การรู้เท่าทันสื่อ และทักษะการสื่อสาร

นายเกรียงไกร กล่าวว่า กิจกรรมมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายนักเรียนและเยาวชนชายขอบในพื้นที่แก่งกระจาน โดยโรงเรียนป่าเด็งวิทยามีนักเรียนจำนวนมากที่เป็นกลุ่มชาติพันธ์กระเหรี่ยงในพื้นที่ป่าละอู และจากพื้นที่อื่นเดินทางมาเรียนแบบอยู่ประจำ เช่น บางกลอย ป่าละอู เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มเยาวชนที่มีความเปราะบาง ทั้งทางเศรษฐกิจ และการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา 

โดยสิ่งที่เยาวชนสะท้อนออกมาทำให้เห็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาการการจัดการสุขภาวะในชุมชนและสิทธิการศึกษา เนื่องจากชาวบ้านกะเหรี่ยงจำนวนมากมีปัญหาสถานะบุคคลหรือการไม่มีบัตรประชาชน และขาดความมั่นใจด้านภาษาในการติดต่อสื่อสารกับสังคมภายนอก ทำให้ขาดโอกาส เราจึงต้องให้ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย และให้กำลังใจแก่เด็กที่รู้สึกท้อแท้กับชีวิต ให้กลับมามีความมุ่งมั่นมีความฝันถึงอนาคต 

“ปัญหาด้านสิทธิ การไม่มีบัตรประชาชน ทำให้เด็กๆ ไม่มีโอกาสศึกษาต่อ ไม่มีเงินทุนการศึกษา จะไปกู้ยืมกองทุนของรัฐก็ไม่มีสิทธิ จบมาก็ต้องเข้าสู่ภาคแรงงาน อยากให้เด็กมีความมุ่งมั่น มีความฝัน มีโอกาสศึกษาต่อ เราพยายามให้โอกาส ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจให้เยาวชน” นายเกรียงไกร กล่าว

Related Posts

Send this to a friend