ทนายความ-ชาวบ้านบางกลอย ถูกปฏิเสธเยี่ยมผู้ต้องขังที่เรือนจำ เนื่องจากเป็นวันหยุด ยื่นประกันอีกครั้งในวันจันทร์นี้
วันนี้ (6 มี.ค. 64) เวลา 13.30 น. ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยเดินทางมา ขอเข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขังทั้ง 22 ราย ในเรือนจำกลางเพชรบุรี (เขากลิ้ง) พร้อมด้วย น.ส.วราภรณ์ อุทัยรังสี ทนายความ ด้วยความเป็นห่วงและกังวล จากการที่ไม่ได้พบหน้าในเมื่อวานนี้ และเด็กเล็กจำนวน 3 ราย ที่ติดลงมาจากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้กลับขึ้นยังหมู่บ้านพร้อมบุคคลอื่นๆ ทราบภายหลังในวันนี้ว่ามีการส่งเด็กกลุ่มดังกล่าวยังสถานสงเคราะห์บ้านกุ่มสะแก อ.เมือง จ.เพชรบุรี
แต่ชาวบ้านและทนายความไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขังได้เนื่องจากเป็นวันหยุด ทางด้านทนายความจาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เตรียมเอกสารถึงการขอประกันตัวและแนวทางในการสู้คดีแก่ชาวบ้านในวันจันทร์นี้ ที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี
นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ให้สัมภาษณ์ว่าได้มาเยี่ยมชาวบ้านทั้ง 22 คน แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ให้เข้าเยี่ยมเนื่องจากเป็นวันเสาร์ มีความต้องการจะพูดคุยกับผู้ถูกคุมขังในฐานะลูกความ การเซ็นเอกสารสำเนาคดี พูดคุยในเรื่องการประกันตัว แนวทางการสู้คดีอีกด้วย รวมถึงสภาพจิตใจของผู้ถูกคุมขังด้วย เนื่องจากเมื่อวานนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่กระบวนการชั้นสอบสวนเพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่ใช่ทนายที่ชาวบ้านร้องขอ
“ญาติพี่น้องหลายคนเป็นห่วงในเรื่องการเป็นอยู่เพราะไม่ได้พบเจอเลยตั้งแต่มีการสอบสวนที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านบางกลอยล่างเข้าพบเจอ หรือสังเกตการณ์ในการสืบสวนชาวบ้าน ในส่วนของสุขภาพยังโอเค แต่สภาพจิตใจนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้เล่าว่า ได้ผู้ต้องขังหญิงรายหนึ่งรู้สึกไม่ดีที่ถูกจับกุมตัว โดยเจ้าหน้าที่ทำการดูแลให้ตลอด ซึ่งการควบคุมเข้าห้องขังในขนาดนี้เป็นห้องกักตัวตามมาตราโควิด-19 คือแบ่งชาย 15 คน ผู้หญิง 7 คน เป็นแบบห้องรวม” น.ส.วราภรณ์ ทนายความ กล่าว
ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ถูกคุมขังหญิง 2 ราย มีลูกเล็ก อายุ 1-2 ขวบ จำนวน 3 ราย ติดลงมาที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่ยังไม่มีใครพบ ซึ่งมีการติดต่อทางเจ้าหน้าที่อุทยานพบว่ามีการส่งไปยังบ้านกุ่มสะแก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ แต่ในวันนี้ไม่สามารถเข้าพบได้เนื่องจากเป็นวันหยุดด้วย
นางสาววราภรณ์ ยังเผยถึงเรื่องราวจากผู้ช่วยพัศดีว่า ในเรื่องระเบียบการตัดผมตามกฎของผู้คุมขัง ก็มีบางส่วนที่ได้ตัดผมตามกฎไปแล้ว โดยทำการยกเว้น 2 ราย หนึ่งในนั้นคือ “พะตี่หน่อแอะ มีมิ” และหลาน ของปู่คออี้ ที่ไว้ผมยาวมาตลอดชีวิตตามความเชื่อและวิถีชีวิต รวมถึงคดีนี้ทางสมาคมได้มีการเสนอต่อรัฐบาลมาตลอด โดยจะมองเพียงกฎหมายอุทยานไม่ได้ ต้องมองถึงวิถีชีวิตด้วย ซึ่งอยากให้รัฐบาลยอมรับในตรงนี้ว่ากลุ่มผู้คนเหล่านี้มีการอาศัย และทำกินอยู่ในป่าตามจริง ถ้าต้องการที่จะแก้ปัญหาก็อยากให้ยอมรับในตรงนี้กันเสียก่อน
นอกจากนี้ในส่วนหมายจับนั้นมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีถึง 30 ราย ถูกคุมขังแล้ว 22 ราย โดย 8 รายที่เหลือ ทนายความเตรียมพูดคุยถึงการเข้ามอบตัวแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อสู้คดี พร้อมกับผู้ถูกคุมขังทั้ง 22 ราย
น.ส.วราภรณ์กล่าวถึงเรื่องการประกันตัวว่า เบื้องต้นที่ทราบจากพนักงานสอบสวน การประกันตัว จะต้องใช้วงเงินถึง 6 หมื่นบาทต่อคน รวมแล้วกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งได้มีการประสานถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และนักวิชาการบางท่านเพื่อขอความช่วยเหลือบ้างแล้ว จะมีการยื่นประกันตัวในวันจันทร์ที่ 8 มีนาคม 2564 ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีต่อไป
จนถึงเวลานี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าชาวบ้านทั้ง 22 รายนั้นให้การรับสารภาพ หรือการปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ทางทีมทนายความได้มีการติดต่อขอข้อมูลต่อพนักงานสืบสวนแล้วแต่ยังได้รับการปฏิเสธ ได้รับเพียงเอกสารคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนมาเท่านั้น