ขณะที่ นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า พวกตนได้ลงพื้นที่โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพลด้วยเช่นเดียวกัน แต่ไปคนละคณะกับ กมธ.ชุดใหญ่ โดยโครงการนี้กรมชลประทานได้ปักหมุดเอาไว้แล้ว และ กมธ.บางรายก็เชื่อตามกรมชลประทานที่บอกว่ามีบ้านที่ได้รับผลกระทบเพียง 4 หลัง แต่ข้อเท็จจริงที่พบคือมีชุมชนอีกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผืนป่าใหญ่แห่งสุดท้ายของจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย ซึ่งเราต้องทำข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไปใน กมธ. เพราะมีประชาชนเดือดต้อนจำนวนมาก การที่กรมชลประทานอ้างมีบ้านที่ได้รับผลกระทบแค่ 4 หลังนั้น อาจเป็นแค่จุดหัวงานเขื่อนสร้างโรงสูบน้ำเท่านั้น แต่ยังมีหมู่บ้านอีกมากมายที่อยู่เหนือเขื่อนและใต้เขื่อนที่ได้รับผลกระทบ
นายคำพองกล่าวว่า การศึกษาเรื่องแม่น้ำยวมและแม่น้ำเมยอยู่ในชุดอนุ กมธ.เจ้าพระยา ที่อยู่ในระหว่างทำการศึกษาและต่อเวลาออกไปน่าจะสิ้นสุดการในช่วงปลายปี ซึ่งเราก็จะนำข้อมูลที่ได้รับเข้าไปนำเสนอเช่นกัน โดยบทบาทของเราคือการศึกษาอย่างรอบด้านและเสนอแนะนำสู่สภา ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของศึกษาแนวทาง ไม่ใช่ศึกษาว่าจะไปสร้างโครงการหรือไม่ หรือรับรองพิมพ์เขียวให้หน่วยงานราชการ ถ้าเห็นด้วยกับพิมพ์เขียวแล้วของหน่วยงานราชการทั้งหมดแล้ว กมธ.จะศึกษาไปทำไม ถ้ากรรมธิการบางคนบอกว่าเป็นแนวทางที่ใช่แล้วก็คงต้องไปคุยกันใน กมธ.ให้รอบคอบกว่านี้เพราะมีผลกระทบมากมายซึ่งต้องอยู่ในรายงานของ กมธ.
“เราเห็นว่าทุกเขื่อนก่อนจะสร้างก็มักบอกว่าจะมีน้ำเข้าและกักน้ำได้มากมายเท่านั้นเท่านี้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าเลย ทางตรงกันข้ามกลับมีผลกระทบต่อป่าและชุมชนมากมาย และสิ่งเหล่านี้เอากลับคืนมาไม่ได้ ตอนนี้ยังจะทำต่อไปอีก ถ้าล้มเหลวอีกจะทำอย่างไร” นายคำพอง กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ กมธ.บางคนโทรไปตำหนิชาวบ้านที่ออกมาคัดค้าน นายคำพองกล่าวว่า อำนาจ กมธ.ต้องรับฟังชาวบ้าน แต่ไม่มีหน้าที่ตำหนิหรือแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ควรศึกษาให้รอบด้าน ความเห็นของชาวบ้านมีส่วนสำคัญที่ต้องรับฟังเพราะพวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรง กมธ.ไม่มีหน้าที่บีบบังคับให้ชาวบ้านเห็นด้วยหรือจะโปรโมทโครงการให้หน่วยงานรายการ หรือการไปคุกคามวิถีชีวิตของคนในชุมชน คิดว่าเรื่องนี้น่าเป็นความเห็นส่วนตัวหรือเรื่องอคติส่วนตัวของ กมธ.บางคนมากกว่า