HUMANITY

เครือข่าย 20 องค์กรทางการศึกษา เปิดเผยผลสำรวจ 7 มาตรการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้

เครือข่าย 20 องค์กรทางการศึกษา ประมวลเสียงสะท้อนจากประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้นำสู่เชิงนโยบาย 7 ข้อที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ โดยให้มีการยกระดับการพูดคุยสันติภาพ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน การกระจายอำนาจการปกครองตามอัตลักษณ์พื้นที่ที่ไม่ใช่การปกครองรัฐอิสระ   ตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณรัฐด้านการพัฒนาพื้นที่  ออกแบบระบบการศึกษาคำนึงถึงอัตลักษณ์พื้นที่  เปิดพื้นที่ทางการเมือง  และขจัดปัญหายาเสพติดอันเป็นประเด็นหลักเพื่อยุติความรุนแรงให้ได้ในระยะยาว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวว่า  เครือข่าย 20 องค์กรทางการศึกษา หรือ Peace Survey  เป็นการทำงานร่วมกันของเครือข่าย 20 องค์กรที่มีจุดยืนทางการเมืองที่หลากหลายจากทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อกระบวนการสันติภาพในด้านทัศนคติต่อสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่  สาเหตุของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสันติภาพ และข้อเสนอแนะต่อแนวทางปัญหาในอนาคต  จำนวน 4 ครั้ง  เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 – กันยายน 2561  จากประชาชนในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา รวม  6,321 คน  พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 42.6 มีความคิดเห็นว่าสถานการณ์ยังเหมือนเดิม   ร้อยละ 25.6 สถานการณ์ดีขึ้น   และร้อยละ 21.7 มีความคิดว่าสถานการณ์แย่ลง  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามาตรการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ที่ผ่านไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในพื้นที่ให้ดีขึ้นได้  จึงให้เห็นความจำเป็นของการปรับนโยบายที่พรรคการเมืองควรต้องพิจารณา 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตต์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

จากการประมวลวิเคราะห์ผลการสำรวจดังกล่าวสามารถสรุปข้อเสนอ  7 ข้อที่มีต่อกระบวนการสันติภาพ  คือ

ประการที่ 1 ยกระดับการพูดคุยสันติภาพให้เป็นแกนกลางในการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนทุกกลุ่ม ร้อยละ 64.4 มีความหวังว่าจะเกิดข้อตกลงสันติภาพได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า 

ประการที่ 2 เร่งปกป้องพลเรือนจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิ โดยเห็นว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน จะต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพลเรือนเป็นอันดับแรกโดยเน้นพื้นที่สาธารณะ  และยังต้องพิจารณาถึงกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถืออีกด้วย  

ประการที่  3 ทบทวนประสิทธิผลการแก้ปัญหายาเสพติดและเร่งตั้งกลไกพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหตุรุนแรง ซึ่งร้อยละ 70.9 เห็นว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่สุดจำเป็นต้องจัดการหากต้องการยุติความรุนแรงให้ได้ในระยะยาว 

ประการที่ 4  ตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบประมาณรัฐด้านการพัฒนาพื้นที่    พบว่าคนในพื้นที่ยังคงมีรายได้น้อยแม้จะมีการใช้จ่ายงบประมาณด้านการพัฒนาพื้นที่กว่า 1.3 แสนล้านบาท ตลอด15ปีที่ผ่านมา   จึงจำเป็นต้องสะท้อนกลับถึงภาครัฐว่าการใช้จ่ายงบประมาณด้านการพัฒนาของภาครัฐที่ผ่านมานั้นมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่เพียงใด 

ประการที่ 5 ออกแบบระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและสะท้อนวิถีอัตลักษณ์วัฒนธรรม ที่นอกจากจะต้องคำนึงถึงคุณภาพการศึกษาแล้ว ยังต้องยอมรับอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่หลากหลายโดยรัฐอย่างเป็นรูปธรรมด้วย 

ประการที่ 6. การกระจายอำนาจมากขึ้นด้วยโครงสร้างการปกครอง ที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่   มีประชาชนร้อยละ 29.2 ไม่เห็นด้วยกับรูปแบการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  แต่ร้อยละ 45.8 ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองรัฐอิสระ  แต่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่มากที่สุด 

ประการที่ 7  เปิดพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงเรื่องอ่อนไหวทางการเมืองโดยไม่ถูกคุกคามจากทุกฝ่าย   จึงจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยไม่ถูกคุกคาม ยิ่งมีพื้นที่มากขึ้นเท่าไรยิ่งทำให้มีทางเลือกที่หลากหลาย ที่จะทำให้เกิดการถกเถียงอันนำมาสู่ข้อสรุปที่สอดคล้องกับความจริงมากขึ้น

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนกลุ่มขบวนการต่างกล่าวย้ำมาตลอดว่าคำตอบอยู่ที่ประชาชน  เครือข่าย Peace Survey  พยายามที่จะสะท้อนเสียงของประชาชนที่อยู่บนพื้นฐานหลักวิชาการอย่างเป็นระบบโดยปราศจากความอคติ ดังนั้นผลมาจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ นำมาซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับว่าเป็นพัฒนาการทางความคิดของประชาชนในพื้นที่อันเป็นหลักพื้นฐานของสันติภาพและประชาธิปไตย ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีข้อมูลทางวิชาการที่สะท้อนเสียงความต้องการของประชาชนเพื่อประกอบการตัดสินใจ ซึ่งถือเป็นการสร้างและขยายพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนบนพื้นฐานของความเที่ยงตรงน่าเชื่อถือในการวิจัย.

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Send this to a friend