HUMANITY

แอมเนสตี้เผย ‘หมอ พยาบาล – จนท.สาธารณสุขทั่วโลก’ เสียชีวิตเพราะโควิด-19 แล้ว กว่า 17,000 ราย

รายงานล่าสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, Public Services International (PSI) และ UNI Global Union ระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อย 17,000 คนเสียชีวิตจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ในขณะที่หลายหน่วยงานเรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่แนวหน้าหลายล้านคนทั่วโลกอย่างเร่งด่วน

คำเตือนนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนที่เลวร้ายลงทั่วโลก กว่าครึ่งหนึ่งของวัคซีนในโลกได้ถูกฉีดให้กับประชากรเพียง 10 ประเทศที่ร่ำรวย คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 10% ของประชากรโลก ในขณะที่กว่า 100 ประเทศยังไม่มีใครได้รับการฉีดวัคซีนแม้แต่คนเดียว ในขณะที่ประเทศยากจนหลายแห่งมีกำหนดได้รับวัคซีนชุดแรกในอีกไม่กี่สัปดาห์และไม่กี่เดือนข้างหน้า ทางหน่วยงานเหล่านี้เรียกร้องให้รัฐบาลวางแผนกระจายการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่แนวหน้าทุกคน รวมทั้งผู้ที่มักถูกละเลยท่ามกลางการระบาดของโรค อย่างเช่น พนักงานทำความสะอาด บุคลากรทางการแพทย์ในชุมชน และนักสังคมสงเคราะห์ ทั้งนี้เพื่อช่วยไม่ให้มีการเสียชีวิตและช่วยให้เกิดสภาพการทำงานที่ปลอดภัย 

สตีฟ คอคเบิร์น หัวหน้าฝ่ายความยุติธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า การที่บุคลากรทางการแพทย์หนึ่งคนเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ทุก 30 นาที เป็นทั้งโศกนาฎกรรมและความอยุติธรรม บุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกต่างเสี่ยงชีวิต เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคโควิด-19 แต่พวกเขาหลายคนกลับไม่ได้รับการปกป้อง และต้องถึงขั้นเสียชีวิตไป

“รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องดูแลให้บุคลากรทางการแพทย์ในทุกพื้นที่ได้รับการปกป้องจากโรคโควิด-19 พวกเขาต้องเสี่ยงชีวิตท่ามกลางการระบาดของโรค ถึงเวลาแล้วที่เราต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงวัคซีนที่ช่วยให้ปลอดภัยได้ ต้องมีการดำเนินมาตรการฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ในชุมชนที่เปรู ได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับแพทย์ในสหราชอาณาจักร”

แอมเนสตี้และเครือข่ายวิเคราะห์ข้อมูลที่มีการเผยแพร่โดยรัฐบาล สหภาพแรงงาน สื่อมวลชน และหน่วยงานภาคประชาสังคมในกว่า 80 ประเทศ อย่างไรก็ดี คาดว่าตัวเลขเหล่านี้ยังเป็นการประเมินที่ต่ำเกินไปมาก เนื่องจากรัฐบาลในหลายประเทศไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการ หรือเก็บข้อมูลเพียงบางส่วน

การเพิกเฉยและขาดความคุ้มครอง

สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย และการขาดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย ส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่หลวงสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกตลอดช่วงที่เกิดโรคระบาด โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น  รายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า มีความขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยในเกือบทุกประเทศใน 63 ประเทศที่เราเก็บข้อมูล บางกลุ่มเป็นกลุ่มที่ขาดแคลนอุปกรณ์อย่างมาก และในบางประเทศ รวมทั้ง มาเลเซีย เม็กซิโก และ สหรัฐอเมริกา พนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่ระดับล่าง และผู้ทำงานสังคมสงเคราะห์ ต้องเผชิญกับการตอบโต้ รวมทั้งอาจถูกไล่ออกจากงานและถูกจับกุมหลังจากเรียกร้องอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยและสภาพการทำงานที่ปลอดภัย

ในหลายประเทศทั่วโลก ผู้ทำงานดูแลสุขภาพมักถูกละเลยในระหว่างที่เกิดโรคระบาด โดยพนักงานบ้านพักคนชราในสหรัฐฯ อย่างน้อย 1,576 คนต้องเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ส่วนในสหราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์ 494 คนเสียชีวิตในปี 2563 และข้อมูลของรัฐบาลชี้ให้เห็นว่า ผู้ทำงานในบ้านพักคนชราและสถานสงเคราะห์ในชุมชน มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 มากกว่าผู้ทำงานทั่วไปถึงสามเท่า

รายงานล่าสุดของ UNICARE ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งขององค์กร UNI Global Union เน้นให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานในหลายภาคส่วน หรือที่ทำงานด้วยสัญญาจ้างชั่วคราว และในที่ทำงานที่มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนเตียงต่ำ มีโอกาสจะติดเชื้อและเสียชีวิตมากกว่าเจ้าหน้าที่ทั่วไป

“ความตายเหล่านี้เป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว ถือเป็นหายนะ และสะท้อนถึงเพียงเสี้ยวหนึ่งของต้นทุนที่แท้จริงจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นกับผู้ทำงานด้านการดูแลทั่วโลก ไวรัสไม่ได้แยกแยะระหว่างผู้ที่เป็นแพทย์และเจ้าหน้าที่บ้านพักคนชรา หรือผู้ช่วยให้การดูแล ด้วยเหตุดังกล่าว แนวทางการฉีดวัคซีนของเรา แนวทางการให้อุปกรณ์ป้องกันตัว และขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อความปลอดภัย ก็ไม่ควรมีการปฏิบัติแยกแยะต่อผู้ทำงานด้านการดูแลที่เสี่ยงต่อโรคโควิด-19 เช่นกัน”

“แนวทางการรับมือกับโรคโควิด-19 ของเรา ต้องกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานด้านการดูแล ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมเพิ่มเติม และทำให้อีกหลายชีวิตต้องเกิดความเสี่ยงอย่างไม่จำเป็น” คริสตี้ ฮอฟแมน เลขาธิการ UNI Global Union กล่าว

การฉีดวัคซีนที่ไม่เท่าเทียม

แม้ว่าแผนการฉีดวัคซีนระดับประเทศส่วนใหญ่ จะให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงภัย แต่ความไม่เท่าเทียมด้านการเข้าถึงวัคซีนระดับโลก อาจส่งผลให้ไม่มีบุคลากรทางการแพทย์แม้แต่คนเดียวในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกที่จะได้รับการฉีดวัคซีน

ในเวลาเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์ในบางประเทศที่ได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนแล้ว มีความเสี่ยงจะไม่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีน หรืออาจถูกบีบให้ต้องรอคิว ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากไม่มีวัคซีนจะฉีด หรือเพราะปัญหาด้านการดำเนินงาน หรือเพราะคำนิยามที่คับแคบเกี่ยวกับบุคคลที่ถือว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์

ในยุโรป แผนการระดับชาติมักให้ความสำคัญเร่งด่วนกับบุคลากรทางการแพทย์ แม้ว่าปัญหาของจำนวนวัคซีนที่มีอาจส่งผลให้การฉีดวัคซีนชะลอลง ในบางประเทศ สหภาพแรงงานและนายจ้างได้รณรงค์กดดันเพื่อให้ผู้ทำงานในบ้านพักคนชราถูกจัดนิยามว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้พวกเขาอยู่ในกลุ่มที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วน

ในบางประเทศ รวมทั้งบราซิลและเปรู ซึ่งเริ่มมีการฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์แล้วตั้งแต่เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ตามลำดับ องค์กรของบุคลากรทางการแพทย์รายงานข้อมูลว่า พนักงานทำความสะอาดและเจ้าหน้าที่ด้านอนามัยของโรงพยาบาลบางแห่งกลับไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แม้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ในแผนกบริหารและจัดการกลับได้รับการฉีดวัคซีนก่อนพนักงานที่ทำงานอยู่แนวหน้า

ในแอฟริกาใต้ บุคลากรทางการแพทย์กว่า 492 คนเสียชีวิตในปี 2563 และรัฐบาลได้เริ่มฉีดวัคซีนให้บุคลากรทางการแพทย์บางส่วน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองฉีดวัคซีนของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และรัฐบาลยังจะได้รับการจัดสรรวัคซีนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แม้ว่าแผนการในเบื้องต้นเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการชะลอการฉีดวัคซีนออกฟอร์ด/แอสตราเซเนกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ องค์กรพยาบาลเพื่อประชาธิปไตยแห่งแอฟริกาใต้ (Democratic Nursing Organisation of South Africa – DENOSA) เรียกร้องให้รัฐบาลดูแลให้พยาบาลในชนบทอยู่ในแผนการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ หลังจากถูกละเลยในขั้นตอนการแจกอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย

เป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนกับบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่แนวหน้าทุกคน ในการวางแผนการจัดสรรวัคซีนเพื่อสนับสนุนการรณรงค์วัคซีนสำหรับประชาชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, Public Services International (PSI) และ UNI Global Union ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนเพื่อเพิ่มปริมาณวัคซีนในระดับโลก โดยการลงทุนด้านศักยภาพการผลิต และประกันให้ผู้ผลิตวัคซีนแบ่งปันเทคโนโลยีและองค์ความรู้ เพื่อประกันให้ทุกคนได้รับการฉีดวัคซีน

“แนวทางสำคัญในการเร่งการฉีดวัคซีนและป้องกันการเสียชีวิตอย่างไม่จำเป็นของเจ้าหน้าที่ในแนวหน้า คือการที่องค์การการค้าโลกยกเว้นการบังคับใช้สิทธิบัตร และการสนับสนุนทุนให้กับประเทศยากจน ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศเหล่านี้สามารถจัดซื้อวัคซีนในราคาถูกได้

“รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกต้องสามารถจัดหาและฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับพวกเราและชุมชนของเราอย่างเร่งด่วนที่สุด บุคลากรทางการแพทย์จะปลอดภัยได้อย่างแท้จริงเมื่อทุกคนปลอดภัยด้วย” โรซา พาวาเนลลี เลขาธิการ PSI กล่าว

Related Posts

Send this to a friend