HUMANITY

KNU เตรียมพร้อมรับมือทหารพม่าบุกช่วงแล้ง

KNU เตรียมพร้อมรับมือทหารพม่าบุกช่วงแล้ง ‘พล.อ.บอจ่อแฮ’ เผยทัพหม่องสั่งซื้อเครื่องบินรบเพิ่มเชื่อโจมตีในวงกว้าง-หวังควบคุมพื้นที่ให้ได้ทั้งหมด ภาคประชาชนไทยจี้รัฐสร้างกลไกช่วยเหลือสิทธิมนุษยธรรม

วันนี้ (1 ธ.ค. 64) พลเอกบอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการกองกำลังปลดปล่อยประชาชนกะเหรี่ยง KNLA (Karen National Liberation Army) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Union:KNU) ให้สัมภาษณ์ ‘สำนักข่าวชายขอบ’ ถึงสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและทหาร KNU กองพล 5 ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าในช่วงฤดูแล้งที่กำลังมาถึง ทหารพม่าจะบุกโจมตีทหาร KNU อีกครั้งหลังจากถูกปิดกั้นเส้นทางลำเลียงเสบียงและอาวุธมาตั้งแต่รัฐประหารในประเทศพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เนื่องจาก KNU ต้องการกดดันให้ทหารพม่าออกจากฐานปฏิบัติการริมแม่น้ำสาละวิน

“คนที่อยู่ด้านในแจ้งว่าเข้าฤดูแล้งแล้วสถานการณ์การสู้รบจะรุนแรงขึ้น ตอนนี้ชาวบ้านยังอยู่ในภาวะหวาดกลัวอยู่ เพราะ มีโดรนบินลาดตระเวนเข้ามาในพื้นที่แทบทุกวัน ทุกคืน เพื่อจับพิกัด ตอนนี้ชาวบ้านมีความกังวลอย่างมากว่าจะเกิดเหตุโจมตีขึ้น ตามที่วิเคราะห์กันเขาจะมีปฏิบัติการที่แน่นอนกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมาเครื่องบินลาดตระเวนเข้ามาจับพิกัดมากขึ้น รอบที่จะเกิดขึ้นนี้ ทางกองทัพพม่าจะทำการโจมตีพื้นที่วงกว้างขึ้น และจุดโจมตีมากกว่าเดิมที่เคยปฏิบัติการมา เรามีความเป็นห่วงต่อประชาชนของเรา” พลเอกบอ จ่อ แฮ กล่าว

พลเอก บอ จ่อ แฮ รองผู้บัญชาการกองกำลังปลดปล่อยประชาชนกะเหรี่ยง KNLA

นายพลแห่งกองทัพ KNLA กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดของกองทัพพม่าคือต้องการมีอำนาจเหนือทุกฝ่ายและควบคุมพื้นที่ทั้งหมด ถึงขั้นที่กองทัพพม่าทำการจับกุมและฆ่าประชาชนของตัวเองที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ตอนนี้มีเหตุสู้รบหลายพื้นที่ กองทัพพม่าจึงต้องกระจายกำลัง ดังนั้นการจะใช้กำลังทหารราบเข้ามาปฎิบัติการในพื้นที่คงมีกำลังพลไม่เพียงพอ บางพื้นที่มีการเสริมกำลังพลเข้าไป แต่ไม่มากนักแน่นอนว่ากำลังหลักที่กองทัพพม่าจะใช้คือ กำลังทางอากาศ ตอนนี้กองทัพพม่ามีการซื้อยุทโธปกรณ์ทางอากาศเพิ่มขึ้น ทั้งเครื่องบินโจมตี และเครื่องบินทิ้งระเบิด

“ผมคิดว่าเขาปฏิบัติการปราบปรามแน่นอน แต่กองทัพพม่าจะประเมินว่ากลุ่มต่อต้านแต่ละกลุ่ม ควรเริ่มปฏิบัติการกลุ่มไหนก่อน พวกเขาจะไม่ปราบปรามพร้อมกันทุกกลุ่ม กองทัพพม่าจะวิเคราะห์กลุ่มกองกำลังแต่ละกลุ่ม กลุ่มประชาชนในเมืองแต่ละกลุ่ม แล้วเริ่มทำลายจากกลุ่มไหนก่อน จะใช้ปฏิบัติการฆ่าล้างหรือ ทำให้หวาดกลัว” พลเอกบอ จ่อ แฮ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเตรียมความพร้อมให้กับชาวบ้านอย่างไร กรณีที่ถูกเครื่องบินรบของกองทัพพม่าโจมตีเหมือนครั้งที่แล้วจนทำให้ชาวบ้านต้องหลบซ่อนในป่าและข้ามแม่น้ำสาละวินมาฝั่งประเทศไทย รองผู้บัญชาการฯ KNLA กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ครั้งที่ผ่านมา เราให้ความรู้และทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า ถ้ามีเหตุต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ทำให้ชาวบ้านรู้สึกสบายใจขึ้น

“ตอนที่เครื่องบินบุกโจมตีชาวบ้านหนีไปทางฝั่งตะวันออกของสาละวิน ในประเทศไทย ความจริงแล้วแต่ละประเทศมีกฎหมาย เราจะหนีไปแบบนั้นไม่ได้ เราก็ไม่ได้อยากให้ชาวบ้านหนีข้ามไป แต่พอเครื่องบินมาและมีคนตาย ชาวบ้านบางส่วนหนีเลย ไม่กล้าอยู่ แล้วพวกเขารู้สึกว่าการได้ข้ามสาละวินไปจะปลอดภัย พวกเขารู้สึกว่าเครื่องบินจะไปไม่ถึง เราให้พวกเขากลับมา แต่เขาก็ไม่กล้ากลับ ความกลัวมันไม่มียาแก้ เราบอกว่าอย่ากลัว แต่คนที่กลัว เขาก็กลัว พวกเขาหนีไปพักใหญ่ ตอนนี้ความกลัวยังคงมีอยู่สิ่งที่ผมอยากบอกคือ พม่าโจมตีเรามานานหลายสิบปี ถ้าจะตายก็ขอตายในแผ่นดินเรา ถ้าหนีไปฝั่งนู้นก็จะเป็นปัญหากับทางนู้น เราก็ไม่อยากให้เขาไป เพราะการหนีแบบนั้นจะเป็นปัญหาต่อพวกเขาเอง และจะเป็นปัญหาตามมาถึงองค์กร” พลเอกบอ จ่อ แฮ กล่าว

นายสันติพงศ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่าคาดการณ์กันว่าในช่วงการสู้รบอาจมีชาวบ้านที่หนีภัยข้ามมายังฝั่งประเทศไทยอีกเหมือนเมื่อครั้งก่อน แต่เชื่อว่าภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านนี้จะรับมือได้ดีกว่าเดิม โดยล่าสุดเครือข่ายคนทำงานภาคประชาสังคม 6-7 องค์กรและตัวแทนอาสาสมัครชุมชนได้ร่วมหารือกัน ซึ่งขณะนี้มีอาสาสมัครชุมชนราว 30 คนจากหมู่บ้านต่างๆตามแนวตะเข็บชายแดนเข้าร่วม โดยได้มีการอบรมตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรม และกระบวนการช่วยเหลือกลุ่มคนที่เปราะบางโดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง ซึ่งขณะนี้ได้ซื้อชุดยังชีพจำนวนหนึ่งไว้สำหรับช่วยผู้ลี้ภัย และเตรียมทำงานวิจัยเรื่องแนวทางการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสถานการณ์ใหม่ โดยประสานกับทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการต่อยอดงานวิจัยเดิม

นายสันติพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไม่ได้แยกแยะระหว่างกลุ่มผู้หนีภัยจากการสู้รบริมชายแดน หรือผู้หนีภัยจากรัฐประหารในพม่าเพราะประเทศไทยยังไม่ใส่ใจหรือตระหนักถึงช่วยเหลือกลุ่มคนที่เห็นต่างจากทหารพม่า ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงต้องหนีมาในรูปแรงงานข้ามชาติ และรัฐบาลก็ใช้กฎหมายคนเข้าเมืองบังคับใช้ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง

Related Posts

Send this to a friend