HUMANITY

“เตือนใจ” ย้ำสังคมไทยยอมรับอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ต่างๆ ขอหน่วยงานความมั่นคง ปรับการมองตามข้อเท็จจริง ปัจจุบันและสากล

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เขียนข้อความลงเฟสบุ๊คส่วนตัวเรื่อง สังคมไทย กับชนชาติพันธุ์ โดยถอดประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ เกือบ 50 ปี สร้างความเข้าใจเรื่องชาติพันธุ์ โดยระบุว่า

ในฐานะที่เรียนสังคมวิทยา มานุษยวิทยาจากคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกค่ายอาสาพัฒนาไปชุมชนชาวเขาชาติพันธุ์ต่างๆ ในภาคเหนือช่วง พ.ศ. 2513-2517 และทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่อเนื่องเกือบ 50 ปี จนถึงบัดนี้

ปัจจุบันการรับรู้ของสังคมไทย ได้ยอมรับอัตลักษณ์ ของชนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม เห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ชาติพันธุ์เหล่านี้ได้อยู่อาศัย ร่วมกันสร้างแผ่นดิน ที่ปัจจุบันคือประเทศไทย

ยังมีอีกไม่น้อยตามแนวชายแดน ที่กลุ่มชาติพันธุ์ทำหน้าที่เป็นรัฐกันชนให้แก่ไทยมาไม่รู้เท่าไหร่

หน่วยงานความมั่นคง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับการมองและวิเคราะห์ประเด็นชาติพันธุ์ ตามข้อเท็จจริง เป็นปัจจุบัน และเป็นสากล

หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการเสนอกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ์และสถานะทางกฎหมาย ได้แก่ กฎหมายการทะเบียนราษฎร กฎหมายสัญชาติ กฎหมายคนเข้าเมือง ฯลฯ ทำให้ชนชาติพันธ์ุได้รับการรับรองสิทธิเป็นพลเมืองสัญชาติไทย ได้สิทธิในการศึกษา สิทธิในหลักประกันสุขภาพ สิทธิในการทำงาน สิทธิทางการเมืองและพลเมือง

แม้จะยังมีปัญหาในทางปฏิบัติระดับพื้นที่และปัญหาข้อกฎหมายนโยบายที่ยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยังประสบภาวะไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

องค์การสหประชาชาติ UN ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชนเผ่าพื้นเมือง ได้ประกาศปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง United Nation Declaration on the Rights of Indigenous People และกติกาสากลว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ International Convention on Elimination of Racial Discrimination ซึ่งรัฐไทยเป็นภาคี

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มชาติติพันธ์ที่พูดภาษาต่างๆ ไม่น้อยกว่า 60 กลุ่มในทุกภาคของประเทศ

การเข้าถึงสิทธิในที่ดินและฐานทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ยังเป็นปัญหาหลักสำหรับชุมชนชาติพันธุ์ ทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และกลุ่มชาวเลใน 5 จังหวัดฝั่งอันดามัน

ในการสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ เสมอภาค และเป็นธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนชาติพันธุ์ และภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ปัญหา ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ์ของชนชาติพันธ์ุ เท่าเทียมในฐานะพลเมืองรัฐไทย

โดยสามารถยกระดับ มติ ครม.ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ให้เป็นกฎหมายคุ้มครองชาติพันธ์ุ และกำหนดมาตรการ แผนงานสนับสนุน มติ ครม. 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นคำมั่นของรัฐบาลไทยต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ UNHCR ในการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ 7 ประเด็นให้สำเร็จ

Related Posts

Send this to a friend